Reading: แฮร์รี่ พอตเตอร์
หนังสือทั้งเจ็ดเล่มถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์โดย วอร์เนอร์บราเธอร์ส จำนวนแปดภาค โดยเนื้อเรื่องในหนังสือเล่มที่เจ็ด ผู้สร้างได้แบ่งออกเป็นสองตอนเพราะเนื้อเรื่องที่ยืดยาว ภาพยนตร์ชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็น ชุดภาพยนตร์ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล ในลำดับที่ 3 นอกจากนี้ ยังได้มีการผลิตสินค้าควบคู่กันอีกจำนวนมาก ซึ่งทำให้ชื่อยี่ห้อแฮร์รี่ พอตเตอร์มีมูลค่ามากกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ [ 9 ] ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2011 เนื้อหาที่ไม่ได้เปิดเผยในหนังสือได้เริ่มเผยแพร่ในรูปแบบอีบุ๊กผ่าน “ พอตเตอร์มอร์ “ [ 10 ] โดยได้มีการต่อยอดความสำเร็จของแฮร์รี่ พอตเตอร์ไปในหลายรูปแบบ อาทิเช่น สวนสนุก โลกมหัศจรรย์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์, สตูดิโอทัวร์ในลอนดอน, นิทรรศการเคลื่อนที่, ภาพยนตร์ ภาคแยก ซึ่งดัดแปลงมาจากเนื้อหาของหนังสือ สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ และภายหลังได้มีการดัดแปลงแฮร์รี่ พอตเตอร์สู่รูปแบบละครเวที ใช้ชื่อว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเด็กต้องคำสาป เปิดการแสดงในวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 2016 ที่โรงละคร พาเลซเธียเตอร์ เมืองลอนดอน โดยบทละครเวทียังได้รับการพิมพ์จำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ลิตเติ้ลบราวน์ ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์เดียวกันที่ตีพิมพ์นิยายผู้ใหญ่ของโรว์ลิ่งภายใต้ชื่อ โรเบิร์ต กัลเบรธอีกด้วย [ 11 ]
ดูบทความหลักที่: จักรวาลของแฮร์รี่ พอตเตอร์ โลกใน แฮร์รี่ พอตเตอร์นั้น เป็นโลกของพวกพ่อมดและแม่มดที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับโลกของ มักเกิล หรือมนุษย์ผู้ไร้เวทมนตร์ ในลักษณะโลกคู่ขนาน โดยโลกเวทมนตร์นั้นไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ แต่จะแทรกซึมอยู่ในโลกของมักเกิลในรูปแบบทับซ้อนกัน มักเกิลจะไม่สามารถเข้าสู่หรือมองเห็นโลกใบดังกล่าวได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากโลกเวทมนตร์นั้นมีการร่ายคาถาปิดกั้นจากพวกมักเกิลเอาไว้ โดยเหล่าพ่อมดและแม่มดจะใช้ชีวิตในโลกเวทมนตร์เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็สามารถเดินทางไปมาระหว่างโลกทั้งสองได้ผ่านการหายตัวหรือการใช้วัตถุและของวิเศษต่าง ๆ อาทิ กุญแจนำทาง ผงฟลู ไม้กวาด และรวมไปถึงการเดินทะลุผ่านกำแพงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เหล่ามักเกิลก็สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติหรือเวทมนตร์ต่าง ๆ ที่ผู้วิเศษร่ายขึ้นมาได้เช่นกัน ซึ่งหากการร่ายเวทมนตร์ต่อหน้ามักเกิลนั้นเป็นไปอย่างโจ่งแจ้ง เจ้าหน้าที่จาก กระทรวงเวทมนตร์ ก็จะคอยทำหน้าที่ลบความทรงจำดังกล่าวจากมักเกิ้ลทิ้งไปตามบทบัญญัติการปกปิดความลับนานาชาติของผู้วิเศษ สังคมของผู้วิเศษนั้นมีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การศึกษา การเมือง กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ วัฒนธรรม และแนวคิด เหล่าผู้เศษจะได้รับการถ่ายทอดพลังเวทมนตร์ผ่านทางสายเลือดนับตั้งแต่เกิด ผ่านการมีพ่อ แม่ หรือบรรพบุรุษคนใดคนหนึ่งที่มีพลังเวทมนตร์ อย่างไรก็ตาม ผู้วิเศษบางคนอาจไม่ได้รับการส่งทอดพลังหรือไม่สามารถควบคุมเวทมนตร์ได้อย่างคนทั่วไปเช่นกัน เหล่าผู้วิเศษจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ตราขึ้นโดยกระทรวงเวทมนตร์ซึ่งมีทั้งข้อกำหนดและบทลงโทษในรูปแบบของตัวเอง เมื่อพ่อมดและแม่มดเติบโตจนถึงเกณฑ์ที่กำหนด พวกเขาจะได้รับการศึกษาผ่านโรงเรียนเวทมนตร์ และจะยังไม่สามารถใช้เวทมนตร์ต่อหน้ามักเกิลได้หากอายุยังไม่ถึง 17 ปี เมื่อผู้วิเศษจบการศึกษาไปแล้วก็สามารถเลือกดำเนินชีวิตได้ตามเส้นทางที่ตนต้องการ แต่จะยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่เช่นเดิม นอกจากนี้ โลกเวทมนตร์ยังมีสิ่งมีชีวิตและวัฒนธรรมที่เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การแต่งกาย การละเล่น และอาหารการกิน อย่างไรก็ตาม แม้สังคมผู้วิเศษในแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นจะเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย แต่ก็ยังเป็นสังคมที่มีการแบ่งแยกทางชนชั้นกันอยู่อย่างตึงเครียด เหล่าสิ่งชีวิตที่ทรงปัญญาอย่าง ก็อบลิน เอลฟ์ประจำบ้าน หรือ เซนทอร์ ยังคงถูกรังเกียจและกดทับโดยเหล่าผู้วิเศษที่มักคิดว่าตนคือชนชั้นนำของสังคม นอกจากนี้ เหล่าผู้วิเศษที่เรียกตัวเองว่า ผู้วิเศษสายเลือดบริสุทธิ์ ( ผู้วิเศษที่ไม่มีสายเลือดของมักเกิลผสมอยู่ ) ก็มักจะมีแนวคิดในการรักษาสายเลือดบริสุทธิ์ของตน และยังคงรังเกียจมักเกิ้ลอย่างถึงที่สุด ชนชั้นและความเกลียดชังนี้จึงได้นำไปสู่การเรืองอำนาจของพ่อมดศาสตร์มืดอย่าง ลอร์ดโวลเดอมอร์ ที่หวังจะเปลี่ยนแปลงโลกเวทมนตร์ให้เป็นโลกสำหรับเหล่าผู้วิเศษเป็นใหญ่เหนือมักเกิลและสิ่งมีชีวิตทั้งปวง
เหตุการณ์ต่าง ๆ ในหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ไม่มีการระบุถึงปีตามปฏิทินจริงมากนัก อย่างไรก็ตามมีการอ้างอิงถึงปีจริงบางส่วนในเนื้อเรื่อง ซึ่งทำให้สามารถวางเรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์ตามปีปฏิทินจริงได้ ซึ่งต่อมาข้อมูลได้รับการยืนยันจากการยอมรับของผู้แต่ง ลำดับเวลาซึ่งนำเสนอใน ดีวีดี ภาพยนตร์ และแผนผังตระกูลแบล็กซึ่งผู้แต่งได้นำออกประมูลการกุศล ลำดับเวลาที่ยอมรับกันทั่วไปคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นเกิดในปี ค.ศ. 1980 และเรื่องราวในหนังสือเล่มแรกเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1991 โดยเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ทราบลำดับเวลาของนิยายได้ก็คือเหตุการณ์ในเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ บทที่ 8 ซึ่งเรื่องราวหนังสือเล่มที่สองเกิดขึ้นในเวลาหนึ่งปีให้หลังหนังสือเล่มแรก โดยในบทนี้แฮร์รี่ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงครบรอบวันตายปีที่ 500 ของตัวละครนิกหัวเกือบขาด และมีการระบุปีบนเค้กวันตายว่า “ ตายวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1492 ” [ 12 ]
นวนิยายเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัวแฮร์รี่ พอตเตอร์ เด็กกำพร้าผู้พบว่าตนเองเป็นพ่อมดเมื่ออายุได้สิบเอ็ดปี อาศัยอยู่ในโลกแห่งผู้ไม่มีอำนาจวิเศษหรือ มักเกิล ซึ่งถือเป็นประชากรปกติ [ 13 ] ความสามารถของเขานั้นมีมาโดยกำเนิดและเด็กจำพวกนี้จึงได้รับเชิญให้เข้าศึกษาในโรงเรียนซึ่งสอนทักษะที่จำเป็นแก่การประสบความสำเร็จในโลกพ่อมด [ 14 ] แฮร์รี่กลายมาเป็นนักเรียนที่ โรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ และเรื่องราวส่วนใหญ่ในนวนิยายเกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ เมื่อแฮร์รี่เติบโตขึ้นผ่านช่วงวัยรุ่น เขาเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามปัญหาที่เผชิญกับเขา ทั้งทางเวทมนตร์ สังคมและอารมณ์ รวมทั้งความท้าทายอย่างวัยรุ่นทั่วไป เช่น มิตรภาพและการสอบ ตลอดจนบททดสอบอันยิ่งใหญ่กว่าที่เตรียมพร้อมเขาสำหรับการเผชิญหน้าที่คอยอยู่เบื้องหน้า [ 15 ] หนังสือแต่ละเล่มบันทึกเหตุการณ์หนึ่งปีในชีวิตของแฮร์รี่ [ 16 ] โดยเนื้อเรื่องหลักเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1991-98 หนังสือยังมีการเล่าย้อนไปในอดีตหลายครั้ง ซึ่งมักอธิบายโดยตัวละครมองความทรงจำในอุปกรณ์ที่เรียกว่า เพนซิฟ เพนซิฟเป็นอ่างทรงกว้างก้นตื้นทำจากโลหะหรือหิน ตกแต่งหรือเลี่ยมด้วยหินมีค่า เต็มเปี่ยมไปด้วยความทรงพลังและความน่าหลงใหลอันซับซ้อน เพนซิฟเป็นของหายากเพราะมีเพียงพ่อมดชั้นสูงที่ใช้มัน และเพราะพ่อมดส่วนใหญ่กลัวที่จะทำเช่นนั้น สภาพแวดล้อมที่เจ. เค. โรว์ลิงสร้างขึ้นนั้นแยกจากความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง แต่ยังเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด ขณะที่ดินแดนแฟนตาซีแห่ง นาร์เนีย เป็นอีกเอกภพหนึ่ง และ มัชฌิมโลก แห่ง ลอร์ดออฟเดอะริงส์ เป็นตำนานโบราณ โลกเวทมนตร์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นเกิดขึ้นคู่ขนานไปกับโลกของมักเกิล และจึงเป็นว่า โลกเวทมนตร์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นจะมีความร่วมสมัยคล้ายคลึงกับชีวิตประจำวันของผู้อ่าน สถาบันและสถานที่หลายแห่งนั้นก็มีอยู่จริง เช่ม กรุง ลอนดอน [ 17 ] สถานที่ในโลกเวทมนตร์นั้นได้กระจัดกระจายอยู่ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ถนนที่ถูกซ่อน ผับเก่าแก่ที่ถูกมองข้าม คฤหาสน์ชนบทที่โดดเดี่ยว และปราสาทที่ตัดขาดจากโลกภายนอกซึ่งประชากรมักเกิลไม่อาจมองเห็นได้ [ 14 ]
เมื่อเรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์เปิดฉากขึ้น เป็นที่แน่ชัดว่ามีเหตุการณ์บางอย่างที่สำคัญเกิดขึ้นในโลกพ่อมด แม้แต่มักเกิลเองก็ยังสังเกตเห็นสัญญาณบางอย่างได้ เบื้องหลังทั้งหมดของเรื่องและบุคลิกของแฮร์รี่ พอตเตอร์ค่อย ๆ เปิดเผยออกมาตลอดทั้งเรื่อง ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ โดยแฮร์รี่ได้ค้นพบว่า เมื่อครั้งเป็นเด็ก เขาได้เป็นพยานการฆาตกรรมบิดามารดาของตนโดยพ่อมดมืดผู้หลงใหลในอำนาจ ลอร์ดโวลเดอมอร์ ผู้ซึ่งขณะนั้นพยายามฆ่าเขาด้วยเช่นกัน [ 18 ] ด้วยเหตุผลที่ยังไม่เปิดเผยในทันที คาถาที่โวลเดอมอร์พยายามปลิดชีพแฮร์รี่สะท้อนกลับไปยังตัวเขาเอง แฮร์รี่รอดชีวิตโดยหลงเหลือแผลเป็นรูปสายฟ้าบนหน้าผากเป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น และโวลเดอมอร์ได้หายสาบสูญไป ด้วยการเป็นวีรบุรุษโดยไม่ได้ตั้งใจจากการสิ้นสุดยุคสมัยแห่งความหวาดกลัวของโวลเดอมอร์ แฮร์รี่ได้กลายมาเป็นตำนานมีชีวิตในโลกพ่อมด อย่างไรก็ดี ด้วยคำสั่งของพ่อมดผู้ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียง อัลบัส ดัมเบิลดอร์ แฮร์รี่ซึ่งกำพร้าพ่อแม่ ถูกทิ้งไว้ในบ้านของญาติมักเกิลผู้ไม่น่าพิสมัยของเขา ครอบครัวเดอร์สลีย์ พวกเดอร์สลีย์ให้ความคุ้มครองเขาให้ปลอดภัยแต่ปกปิดพลังที่แท้จริงจากเขาด้วยหวังว่าเขาจะเติบโตขึ้น “ อย่างปกติ ” [ 18 ] เมื่อย่างใกล้วันเกิดครบรอบปีที่สิบเอ็ดของแฮร์รี่ พ่อมดครึ่งยักษ์ รูเบอัส แฮกริด เปิดเผยประวัติของแฮร์รี่และนำเขาเข้าสู่โลกเวทมนตร์ [ 18 ] ด้วยความช่วยเหลือของแฮกริด แฮร์รี่เตรียมตัวและเข้าเรียนในปีแรกที่ฮอกวอตส์ เมื่อแฮร์รี่เริ่มต้นสำรวจโลกเวทมนตร์นั้น เรื่องราวได้ระบุสถานที่สำคัญหลายแห่งที่ใช้ตลอดเนื้อเรื่อง แฮร์รี่พบกับตัวละครหลักส่วนใหญ่ และมีเพื่อนรักที่สุดสองคนคือ รอน วีสลีย์ สมาชิกที่รักสนุกแห่งครอบครัวพ่อมดที่ใหญ่ เก่าแก่ มีความสุขแต่ยากจน และ เฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ แม่มดที่มีพรสวรรค์ เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่มีเวทมนตร์และจริงจังกับการเรียน [ 18 ] [ 19 ] แฮร์รี่ยังพบกับอาจารย์สอนวิชาปรุงยาของโรงเรียน เซเวอร์รัส สเนป ผู้แสดงความไม่ชอบอย่างลึกซึ้งมั่นคงแก่เขา โครงเรื่องสรุปเมื่อแฮร์รี่เผชิญหน้ากับลอร์ดโวลเดอมอร์ครั้งที่สอง ผู้ซึ่งกำลังตามหาความเป็นอมตะ โดยปรารถนาการได้รับอำนาจแห่งศิลาอาถรรพ์ [ 18 ] แต่สุดท้ายก็เป็นแฮร์รี่ที่ได้รับชัยชนะและโวลเดอมอร์ก็ได้หายสาบสูญไปอีกครั้งหนึ่ง เรื่องราวดำเนินต่อด้วย แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวในปีที่สองของแฮร์รี่ที่ฮอกวอตส์ เขาและเพื่อนได้สืบสวนตำนานอายุ 50 ปีซึ่งกลายเป็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ลางร้ายล่าสุดที่โรงเรียน น้องสาวของรอน จินนี่ วีสลีย์ ซึ่งกำลังเรียนอยู่ปีหนึ่งที่ฮอกวอตส์ พบสมุดบันทึกซึ่งเป็นบันทึกของโวลเดอมอร์เมื่อครั้งเป็นนักเรียน จินนี่ถูกครอบงำโดยโวลเดอมอร์ผ่านบันทึก และเปิด “ ห้องแห่งความลับ ” ปลดปล่อยบาซิลิสก์ สัตว์ประหลาดโบราณซึ่งเริ่มโจมตีนักเรียนที่ฮอกวอตส์ ตอนนี้เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ฮอกวอตส์และตำนานที่เกี่ยวข้องกับห้องลับแห่งนี้ เป็นครั้งแรกที่แฮร์รี่ตระหนักถึงอคติด้านชาติกำเนิดว่ามีอยู่ในโลกพ่อมด และเขาเรียนรู้ว่า ยุคสมัยแห่งความหวาดกลัวของโวลเดอมอร์นั้นมักมุ่งไปยังพ่อมดผู้สืบเชื้อสายจากมักเกิล เขายังพบความสามารถของตนในการพูดภาษาพาร์เซล ซึ่งเป็นภาษาของงู ที่พบได้ยากและมักเกี่ยวข้องกันกับศาสตร์มืด นิยายเล่มนี้จบลงหลังแฮร์รี่ช่วยชีวิตของจินนี่โดยการฆ่าบาซิลิสก์และทำลายสมุดบันทึกที่โวลเดอมอร์เก็บรักษาส่วนหนึ่งของวิญญาณเขาไว้ ( แฮร์รี่ไม่ทราบเรื่องนี้จนกระทั่งเปิดเผยภายหลัง ) แนวคิดการเก็บรักษาส่วนหนึ่งของวิญญาณไว้ในวัตถุเพื่อป้องกันความตายนั้นปรากฏครั้งแรกในนิยายเล่มที่หกในชื่อของ “ ฮอร์ครักซ์ “ นิยายเล่มที่สาม แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน ดำเนินเนื้อเรื่องในปีที่สามของแฮร์รี่ในการศึกษาเวทมนตร์ และเป็นเพียงเล่มเดียวในเรื่องที่มิได้มีโวลเดอมอร์ปรากฏ เขาต้องรับมือกับข้อมูลที่ว่าเขาตกเป็นเป้าหมายของ ซิเรียส แบล็ก ฆาตกรหลบหนีจากคุกอัซคาบัน ผู้เป็นพ่อทูนหัวของแฮร์รี่และถูกเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการตายของพ่อแม่แฮร์รี่ เมื่อแฮร์รี่ได้ต่อสู้กับปฏิกิริยาต่อผู้คุมวิญญาณ สิ่งมีชีวิตชั่วร้ายที่มีความสามารถในการกลืนกินวิญญาณของมนุษย์ ซึ่งกำลังคุ้มครองโรงเรียนอยู่ เขาก็ได้พบกับ รีมัส ลูปิน ครูสอนวิชาการป้องกันต้องจากศาสตร์มืดคนใหม่ ซึ่งเปิดเผยภายหลังว่าเป็นมนุษย์หมาป่า ลูปินสอนมาตรการป้องกันแก่แฮร์รี่ ซึ่งเหนือไปจากระดับเวทมนตร์ที่มักพบในบุคคลที่มีอายุเท่าเขา แฮร์รี่พบว่าทั้งลูปินและแบล็กเคยเป็นเพื่อนสนิทของบิดา และแบล็กนั้นบริสุทธิ์ เพราะเขาถูกใส่ร้ายโดยเพื่อนคนที่สี่ ปีเตอร์ เพ็ตดิกรูว์ ผู้ขายความลับของพ่อแม่แฮร์รี่แก่โวลเดอมอร์ [ 20 ] ในเล่มนี้ มีการเน้นย้ำแก่นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำอีกประการหนึ่งตลอดเรื่อง คือ ทุกเล่มจะต้องมีครูสอนการป้องกันตัวจากศาสตร์มืดคนใหม่เสมอและไม่มีคนใดทำงานอยู่ได้นานเกินหนึ่งปี
ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี ระหว่างปีที่สี่ของแฮร์รี่ที่ฮอกวอตส์ แฮร์รี่เป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันการประลองเวทไตรภาคีโดยไม่เต็มใจและนั่นเป็นการวางแผนของ บาร์ตี้ เคร้าช์ จูเนียร์ ซึ่งการประลองเวทไตรภาคีเป็นการประลองอันตรายที่แฮร์รี่จะต้องแข่งขันกับตัวแทนพ่อมดและแม่มดจากโรงเรียนเวทมนตร์อื่นๆที่มาเยือน เช่นเดียวกับเซดริก ดิกกอรี่ ตัวแทนของฮอกวอตส์อีกคนหนึ่ง [ 21 ] แฮร์รี่ได้รับการชี้นำผ่านการประลองโดยศาสตราจารย์อลาสเตอร์ “ แม้ด-อาย ” มู้ดดี้ แต่ภายหลังกลับกลายเป็นว่าเป็นคนอื่นปลอมตัวมา ซึ่งก็คือบาร์ตี้ เคร้าช์ จูเนียร์ หนึ่งในผู้สนับสนุนของโวลเดอมอร์ จุดที่ปริศนาคลายปมออกนั้นเป็นจุดเปลี่ยนของเรื่อง โดยแผนการของโวลเดอมอร์คือให้เคร้าช์อาศัยการประลองในครั้งนี้เพื่อนำตัวแฮร์รี่มาให้โวลเดอมอร์สังหาร และแม้ว่าแฮร์รี่จะสามารถหลบหนีจากเขามาได้แต่เซดริก ดิกกอรี่ได้ถูกสังหารโดยโวลเดอมอร์ที่ได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นอีกครั้ง ในหนังสือเล่มที่ห้า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ แฮร์รี่ต้องเผชิญหน้ากับโวลเดอมอร์ที่คืนชีพขึ้นมา และเพื่อเป็นการรับมือ ดัมเบิลดอร์ได้ให้ภาคีนกฟีนิกซ์กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ภาคีนั้นเป็นสมาคมลับที่ดำเนินงานโดยอาศัยบ้านลึกลับประจำตระกูลของซิเรียส แบล็กเป็นกองบัญชาการ เพื่อเอาชนะสมุนของโวลเดอมอร์และให้ความคุ้มครองเป้าหมายของโวลเดอมอร์ โดยเฉพาะแฮร์รี่ อย่างไรก็ตามรายละเอียดของแฮร์รี่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวล่าสุดของโวลเดอมอร์ ได้ถูกกระทรวงเวทมนตร์ปกปิดและบิดเบือนความจริง คนส่วนใหญ่ในโลกเวทมนตร์จึงปฏิเสธที่จะเชื่อว่าโวลเดอมอร์ได้หวนกลับคืนอีกครั้ง [ 22 ] ด้วยความพยายามที่จะตอบโต้และทำลายชื่อเสียงดัมเบิลดอร์ ผู้ซึ่งอยู่เคียงข้างแฮร์รี่และถือเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญที่สุดในโลกเวทมนตร์ในการพยายามเตือนภัยถึงการกลับมาของโวลเดอมอร์ กระทรวงจึงได้แต่งตั้ง โดโลเรส อัมบริดจ์ ขึ้นเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนใหญ่แห่งฮอกวอตส์ เธอได้เปลี่ยนแปลงการปกครองในโรงเรียนไปอย่างเข้มงวดและปฏิเสธที่จะอนุญาตให้นักเรียนเรียนรู้วิธีป้องกันตนเองจากเวทมนตร์มืด [ 22 ] แฮร์รี่ได้ก่อตั้ง “ กองทัพดัมเบิลดอร์ ” กลุ่มเรียนลับเพื่อสอนทักษะการป้องกันตัวจากศาสตร์มืดระดับสูงที่เขาเคยเรียนมาและมีประสบการณ์โดยตรงแก่เพื่อนร่วมชั้นของเขา ภายหลังมีการเปิดเผยถึงคำพยากรณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับแฮร์รี่และโวลเดอมอร์ [ 23 ] แฮร์รี่ค้นพบว่าเขากับโวลเดอมอร์สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ และทำให้แฮร์รี่ได้เห็นการกระทำบางอย่างของโวลเดอมอร์ผ่านทางกระแสจิต ในช่วงท้ายของเรื่อง แฮร์รี่กับเพื่อนได้เผชิญหน้ากับผู้เสพความตายของโวลเดอมอร์ แม้การมาถึงทันเวลาของสมาชิกภาคีนกฟีนิกซ์จะช่วยชีวิตของเด็ก ๆ ได้ แต่ซิเรียส แบล็กก็ถูกสังหารไปในคราวเดียวกัน [ 22 ] โวลเดอมอร์เริ่มทำสงครามอย่างเปิดเผยใน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม แม้แฮร์รี่กับเพื่อนจะค่อนข้างได้รับการคุ้มครองจากภัยอันตรายเป็นอย่างดีที่ฮอกวอตส์ แต่พวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากในช่วงวัยรุ่นหลายอย่าง แฮร์รี่เริ่มต้นออกเดทกับจินนี่ วีสลีย์ รอนเองก็หลงใหลในตัวลาเวนเดอร์ บราวน์ เพื่อนสาวของเขาอย่างรุนแรง ส่วนเฮอร์ไมโอนีก็เริ่มที่จะรู้ตัวว่าเธอนั้นรักรอน ในช่วงต้นของนิยายแฮร์รี่ได้รับหนังสือเรียนปรุงยาเล่มเก่าซึ่งเต็มไปด้วยความเห็นประกอบและข้อแนะนำที่เขียนเพิ่มเติมโดยเจ้าของคนเก่าชื่อ เจ้าชายเลือดผสม แฮร์รี่ยังได้เรียนพิเศษเป็นการส่วนตัวกับดัมเบิลดอร์ ที่ได้แสดงให้เขาเห็นความทรงจำทั้งหลายเกี่ยวกับชีวิตช่วงต้นของโวลเดอมอร์ผ่านเพนซิฟ พร้อมแสดงให้เห็นว่าวิญญาณของโวลเดอมอร์ได้ถูกแยกไปอยู่ในฮอร์ครักซ์หลายชิ้น ซึ่งเป็นวัตถุวิเศษชั่วร้ายที่ซ่อนอยู่ยังที่ต่าง ๆ [ 24 ] ในช่วงท้ายของของเรื่อง เดรโก มัลฟอย คู่ปรับของแฮร์รี่ พยายามโจมตีดัมเบิลดอร์ และหนังสือจบลงด้วยการสังหารดัมเบิลดอร์โดยศาสตราจารย์สเนป ซึ่งเป็นเจ้าของชื่อเจ้าชายเลือดผสม แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต นิยายเล่มสุดท้ายในชุด ดำเนินเรื่องต่อจากหลังเหตุการณ์ในหนังสือเล่มก่อนในทันที โวลเดอมอร์ประสบความสำเร็จในการเถลิงอำนาจและควบคุมกระทรวงเวทมนตร์ แฮร์รี่ รอน และเฮอร์ไมโอนีออกจากโรงเรียนเพื่อที่พวกเขาจะสามารถค้นหาและทำลายฮอร์ครักซ์ที่เหลืออยู่ของโวลเดอมอร์ เพื่อเป็นการประกันความปลอดภัยของพวกตน เช่นเดียวกับความปลอดภัยของครอบครัวและเพื่อนฝูง พวกเขาถูกบีบให้แยกตัวออกจากทุกคน ระหว่างการค้นหาฮอร์ครักซ์ ซึ่งทั้งสามได้ค้นพบและทำลายไปได้หลายชิ้น นอกจากนี้ได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตของดัมเบิลดอร์และไม้กายสิทธิ์เอลเดอร์ หนึ่งในเครื่องรางยมทูตที่โวลเดอมอร์ได้ตามหาและชิงมาจากหลุมศพของดัมเบิลดอร์ด้วยความเชื่อที่ว่าพลังของไม้จะสามารถฆ่าแฮร์รี่ได้ แต่ด้วยความหวาดระแวงว่าสเนปผู้ฆ่าดัมเบิลดอร์นั้นคือเจ้าของไม้ที่แท้จริง เขาจึงสังหารสเนปลง ภายหลังแฮร์รี่ได้ทราบเจตนาที่แท้จริงของสเนป ที่ทำภารกิจตามความต้องการของดัมเบิลดอร์นับแต่แม่ของแฮร์รี่ถูกฆาตกรรม นิยายเดินทางมาถึงจุดสำคัญในการต่อสู้ที่ฮอกวอตส์ แฮร์รี่ รอนและเฮอร์ไมโอนี ร่วมกับสมาชิกภาคีนกฟีนิกซ์ ตลอดจนครูและนักเรียนหลายคน ได้ป้องกันฮอกวอตส์จากโวลเดอมอร์ ผู้เสพความตายของเขา และสิ่งมีชีวิตเวทมนตร์ทั้งหลาย ตัวละครหลักหลายคนถูกสังหารในการต่อสู้ระลอกแรก รวมถึงรีมัส ลูปิน นิมฟาดอร่า ท็องส์ และเฟร็ด วีสลีย์ และหลังทราบว่าตัวเขาเองเป็นฮอร์ครักซ์ แฮร์รี่มอบตัวต่อโวลเดอมอร์ที่ป่าต้องห้าม ซึ่งได้ร่ายคำสาปพิฆาตเพื่อปลิดชีพเขาและเป็นการทำลายฮอร์ครักซ์อีกชิ้นลงในเวลาเดียวกัน โวลเดอมอร์ได้ประกาศถึงการตายของแฮร์รี่ต่อทุกคน อย่างไรก็ดี กลุ่มป้องกันฮอกวอตส์ยังไม่ยอมจำนนแม้จะทราบถึงข้อเท็จจริงนี้และยังคงสู้ต่อไป หลังกลับมาจากความตาย แฮร์รี่ได้เผชิญหน้ากับโวลเดอมอร์ ซึ่งงูนากินี ฮอร์ครักซ์ชิ้นสุดท้ายได้ถูกทำลายลงแล้ว ในการต่อสู้ครั้งสุดท้าย ไม้กายสิทธิ์เอลเดอร์ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อโวลเดอมอร์เนื่องจากเขาไม่ใช่นายที่แท้จริงของมัน แต่คือแฮร์รี่เอง ทำให้คำสาปพิฆาตของโวลเดอมอร์ถูกคาถาปลดอาวุธของแฮร์รี่สะท้อนกลับและสังหารโวลเดอมอร์ในที่สุด ในบทส่งท้ายซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอีก 19 ปีให้หลัง นิยายได้อธิบายถึงชีวิตของตัวละครที่เหลือรอด โดยแฮร์รี่ได้แต่งงานและมีลูกกับจินนี่ ส่วนรอนนั้นแต่งงานและมีลูกกับเฮอร์ไมโอนี่ ทั้งสี่คนได้มาส่งลูก ๆ ของพวกเขาไปเรียนที่ฮอกวอตส์ ณ ชานชาลาที่เก้าเศษสามส่วนสี่ ซึ่งภายหลังการตายของโวลเดอมอร์ โลกเวทมนตร์ก็ได้กลับสู่ความสงบสุขอีกครั้งและไม่มีเรื่องร้ายเกิดขึ้นกับแฮร์รี่อีกเลย
โรว์ลิงขยายจักรวาลแฮร์รี่ พอตเตอร์ด้วยหนังสือเรื่องสั้นหลายเล่มซึ่งผลิตออกมาให้การกุศลหลายอย่าง [ 25 ] [ 26 ] ใน ค.ศ. 2001 เธอวางจำหน่าย สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ ( หนังสือที่สมมติขึ้นว่าเป็นหนังสือเรียนในฮอกวอตส์ ) และ ควิดดิชในยุคต่าง ๆ ( หนังสือที่แฮร์รี่อ่านเอาสนุก ) รายได้จากการขายหนังสือทั้งสองเล่มนี้ได้มอบให้แก่มูลนิธิคอมมิครีลิฟ [ 27 ] ใน ค.ศ. 2007 โรว์ลิงประพันธ์ นิทานของบีเดิลยอดกวี ฉบับเขียนด้วยมือเจ็ดเล่ม ซึ่งเป็นหนังสือที่รวมเทพนิยายซึ่งปรากฏในเล่มสุดท้าย หนึ่งในนั้นถูกประมูลขายเพื่อระดมทุนแก่ชิลเดรนส์ไฮเลเวลกรุ๊ป กองทุนเพื่อเด็กพิการในประเทศยากจน หนังสือนี้ได้รับตีพิมพ์ระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 2008 [ 28 ] [ 29 ] นอกจากนี้ โรว์ลิงยังได้เขียน พลีเควล 800 คำ ในปี 2008 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการระดมทุนซึ่งจัดโดยร้านขายหนังสือวอเทอร์สโตนส์ [ 30 ] ก่อนที่เธอจะออกเว็บไซต์ใหม่ในชื่อ พอตเตอร์มอร์ ซึ่งเป็นการรวบรวมเนื้อหาต่าง ๆ ที่ไม่ได้รับการเปิดเผยในหนังสือ ในปี 2011 [ 31 ]
นวนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์จัดอยู่ในประเภทวรรณกรรมแฟนตาซี อย่างไรก็ดี ในหลายแง่มุม ยังเป็นนวนิยายการศึกษา ( bildungsromans ) หรือการเปลี่ยนผ่านของวัย และมีส่วนที่เป็นประเภทลึกลับ ตื่นเต้นเขย่าขวัญ และโรแมนซ์ นวนิยายชุดนี้อาจถูกมองว่าเป็นประเภทโรงเรียนกินนอนเด็กของอังกฤษ เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่ในชุดเกิดขึ้นในฮอกวอตส์ ซึ่งเป็นโรงเรียนกินนอนอังกฤษสำหรับพ่อมดในนวนิยาย โดยมีหลักสูตรรวมถึงการใช้เวทมนตร์ด้วย [ 32 ] ชุดนวนิยายนี้ยังเป็นประเภทที่ สตีเฟน คิง ใช้คำว่า “ เรื่องลึกลับหลักแหลม ” [ 33 ] และแต่ละเล่มมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับการผจญภัยลึกลับแบบ เชอร์ล็อก โฮมส์ เรื่องราวเล่าโดยบุคคลที่สามจำกัดมุมมองโดยมีข้อยกเว้นเล็กน้อย ( เช่น บทแรก ๆ ของศิลาอาถรรพ์ ถ้วยอัคนี และเครื่องรางยมทูต และสองบทแรกของเจ้าชายเลือดผสม ) ช่วงกลางของหนังสือแต่ละเล่ม แฮร์รี่ต่อสู้กับปัญหาที่เขาประสบ และการจัดการปัญหาเหล่านั้นมักเกี่ยวข้องกับความต้องการละเมิดกฎโรงเรียนบางข้อ หากนักเรียนถูกจับได้ว่าละเมิดกฎ พวกเขาจะถูกลงโทษโดยศาสตราจารย์ฮอกวอตส์ ซึ่งใช้รูปแบบวิธีการลงโทษที่มักพบในประเภทย่อยโรงเรียนกินนอน [ 32 ] อย่างไรก็ดี เรื่องราวถึงจุดสูงสุดในช่วงภาคเรียนฤดูร้อน ช่วงใกล้หรือช่วงเพิ่งสอบปลายภาคเรียนเสร็จ โดยมีเหตุการณ์บานปลายขึ้นเกินการวิวาทและการดิ้นรนอยู่ในโรงเรียน และแฮร์รี่ต้องเผชิญกับโวลเดอมอร์หรือหนึ่งในผู้ติดตามของเขา ผู้เสพความตาย โดยเดิมพันเรื่องคอขาดบาดตาย ประเด็นหนึ่งเน้นย้ำว่า เมื่อเรื่องราวดำเนินไป มีตัวละครหนึ่งตัวหรือมากกว่าถูกฆ่าในแต่ละเล่มในสี่เล่มสุดท้าย [ 34 ] [ 35 ] หลังจากนั้น เขาเรียนรู้บทเรียนสำคัญผ่านการชี้แจงและการอภิปรายกับอาจารย์ใหญ่และที่ปรึกษา อัลบัส ดัมเบิลดอร์ ในนวนิยายเล่มสุดท้าย แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต แฮร์รี่กับเพื่อนใช้เวลาส่วนใหญ่นอกฮอกวอตส์ และเพียงกลับมาเพื่อเผชิญหน้ากับโวลเดอมอร์ในตอนจบ [ 34 ] ด้วยรูปแบบนวนิยายการศึกษา ในส่วนนี้แฮร์รี่ต้องเติบโตขึ้นก่อนวัยอันควร ละทิ้งโอกาสปีสุดท้ายในฐานะนักเรียนโรงเรียนและจำต้องปฏิบัติตนเหมือนผู้ใหญ่ ซึ่งคนอื่นต้องพึ่งพาการตัดสินใจของเขา ซึ่งรวมถึงผู้ใหญ่ด้วย [ 36 ]
โรว์ลิงว่า แก่นเรื่องหลักของชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์คือ ความตาย “ หนังสือของฉันเกี่ยวข้องกับความตายเป็นส่วนใหญ่ เรื่องราวเกิดขึ้นด้วยการตายของพ่อแม่แฮร์รี่ มีความคิดครอบงำของโวลเดอมอร์เรื่องการพิชิตความตายและภารกิจของเขาเพื่อความเป็นอมตะไม่ว่าจะต้องเสียอะไรไปก็ตาม เป้าหมายของทุกคนที่มีเวทมนตร์ ฉันเข้าใจดีว่าทำไมโวลเดอมอร์ต้องการพิชิตความตาย เราทุกคนกลัวมัน ” [ 8 ] อาจารย์และนักหนังสือพิมพ์ได้พัฒนาการตีความแก่นเรื่องอื่นอีกมากในหนังสือ บ้างก็ซับซ้อนกว่าแนวคิดอื่น และบ้างก็รวมถึงการแฝงนัยทางการเมืองด้วย แก่นเรื่องนี้อย่างเช่น ปกติวิสัย การครอบงำ การอยู่รอด และการก้าวข้ามความแปลกประหลาดที่เพิ่มขึ้นมาล้วนถูกมองว่าพบเห็นได้บ่อยตลอดทั้งเรื่อง [ 37 ] โรว์ลิงว่า หนังสือของเธอประกอบด้วย “ ข้อพิสูจน์ยืดเยื้อแก่ความอดกลั้น คำขอร้องยาวนานให้ยุติความเชื่อไร้เหตุผล ” และว่ายังผ่านข้อความเพื่อ “ ตั้งคำถามถึงทางการและ … ไม่สันนิษฐานว่าสถาบันหรือสื่อบอกความจริงแก่คุณทั้งหมด ” [ 38 ] ขณะที่อาจกล่าวได้ว่าหนังสือนั้นประกอบด้วยแก่นเรื่องอื่นอีกหลากหลาย เช่น อำนาจ การละเมิดอำนาจ, ความรัก, อคติ และทางเลือกเสรี ซึ่งทั้งหมดนี้ ตามคำกล่าวของเจ. เค. โรว์ลิง ว่า “ ฝังลึกอยู่ในโครงเรื่องทั้งหมด ” ผู้เขียนยังพึงใจปล่อยให้แก่นเรื่อง “ การเติบโตทางชีวิต ” มากกว่านั่งลงและเจตนาพยายามที่จะบอกแนวคิดนั้นแก่ผู้อ่านของเธอ ในบรรดาแก่นเรื่องนั้นคือ แก่นเรื่องที่มีอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับวัยรุ่น ซึ่งในการพรรณนา โรว์ลิงมีจุดประสงค์ในการรับรองเพศภาพตัวละครของเธอและไม่ทิ้งให้แฮร์รี่ “ ติดอยู่ในสภาพก่อนวัยหนุ่มสาวไปตลอดกาล ” ตามคำพูดของเธอ [ 39 ] โรว์ลิงกล่าวว่า สำหรับเธอ ความสำคัญทางศีลธรรมของเรื่องนี้ดู “ ชัดเจนมากอย่างที่สุด ” สิ่งสำคัญสำหรับเธอคือทางเลือกระหว่างสิ่งที่ง่ายกับสิ่งที่ถูก “ เพราะว่า … นั่นคือสิ่งที่ทรราชเริ่มต้น โดยไม่ยินดียินร้ายและเลือกเส้นทางที่ง่าย และทันใดนั้นก็พบว่าตนเองอยู่ในปัญหาร้ายแรง ” [ 40 ]
ในปี 1990 เจ. เค. โรว์ลิงอยู่ในรถไฟที่มีคนเนืองแน่นจากแมนเชสเตอร์ไปยังลอนดอน เมื่อแนวคิดแฮร์รี่ “ ตกลงมาใส่หัวของเธอ ” ทันใดนั้นเอง โรว์ลิงเล่าถึงประสบการณ์บนเว็บไซต์ของเธอโดยระบุว่า
ฉันเคยเขียนค่อนข้างต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่อายุได้หกขวบ แต่ฉันไม่เคยตื่นเต้นกับแนวคิดไหนมาก่อน ฉันเพียงแค่นั่งลงและคิด เป็นเวลาสี่ ( รถไฟล่าช้า ) ชั่วโมง และทุกรายละเอียดก็ผุดขึ้นในสมองของฉัน และเด็กชายผอมกะหร่อง ผมดำ สวมแว่นตาผู้ไม่รู้ว่าตนเองเป็นพ่อมดนี้ก็ค่อย ๆ กลายเป็นจริงขึ้นสำหรับฉัน [ 41 ]
โรว์ลิงเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์เสร็จใน ค.ศ. 1995 และต้นฉบับถูกส่งไปยังตัวแทนผู้ซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือหลายคน ( prospective agent ) [ 42 ] ตัวแทนคนที่สอง คริสโตเฟอร์ ลิตเตล เสนอเป็นตัวแทนเธอและส่งต้นฉบับไปยังสำนักพิมพ์บลูมส์บรี หลังสำนักพิมพ์อื่นแปดสำนักปฏิเสธศิลาอาถรรพ์ บลูมส์บรีเสนอค่าตอบแทนล่วงหน้าเป็นเงิน 2,500 ปอนด์แก่โรว์ลิงเป็นค่าจัดพิมพ์ [ 43 ] [ 44 ] แม้เธอจะไม่ได้วางกลุ่มอายุเป้าหมายไว้ในใจเมื่อเริ่มต้นเขียนหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ สำนักพิมพ์เดิมตั้งเป้าไว้ที่เด็กอายุระหว่างเก้าถึงสิบเอ็ดปี [ 45 ] วันก่อนวันจัดพิมพ์ โรว์ลิงได้รับการร้องขอจากสำนักพิมพ์ให้ใช้นามปากกาที่ไม่บ่งบอกเพศมากกว่านี้ เพื่อดึงดูดกลุ่มอายุที่เป็นชายมากขึ้น ด้วยกลัวว่าพวกเขาอาจไม่สนใจอ่านนวนิยายที่พวกเขารู้ว่าผู้หญิงเขียน เธอเลือกใช้ชื่อ เจ. เค. โรว์ลิง ( โจแอนน์ แคทลีน โรว์ลิง ) โดยใช้ชื่อย่าของเธอเป็นชื่อที่สอง เพราะเธอไม่มีชื่อกลาง [ 44 ] [ 46 ] แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ( Harry Potter and the Philosopher’s Stone ) ได้รับตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลูมส์บรี ผู้จัดพิมพ์หนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ทุกเล่มในสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1997 [ 47 ] และวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1998 ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สกอแลสติก สำนักพิมพ์หนังสือของอเมริกา ในชื่อ Harry Potter and the Sorcerer’s Stone หลังโรว์ลิงได้รับเงิน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็นค่าลิขสิทธิ์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนสำหรับหนังสือเด็กโดยนักเขียนที่ขณะนั้นยังไร้ชื่อ [ 48 ] ด้วยกลัวว่าผู้อ่านชาวอเมริกันจะไม่เชื่อมโยงคำว่า “ philosopher ” ( นักปราชญ์ ) กับแก่นเรื่องเวทมนตร์ ( แม้ศิลานักปราชญ์จะเกี่ยวข้องกับ การเล่นแร่แปรธาตุ ก็ตาม ) สกอแลสติกจึงยืนยันว่าหนังสือควรให้ชื่อนี้สำหรับตลาดอเมริกัน หนังสือเล่มที่สอง แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ ตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1998 และในสหรัฐอเมริกาวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1999 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบันตีพิมพ์อีกหนึ่งปีให้หลังในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1999 และในสหรัฐอเมริกา 8 กันยายน ปีเดียวกัน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนีตีพิมพ์เมื่อ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2000 เวลาเดียวกันทั้งบลูมส์บรีและสกอแลสติก [ 50 ] แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์เป็นหนังสือเล่มยาวที่สุดในชุด ด้วยความหนา 766 หน้าในรุ่นสหราชอาณาจักร และ 870 หน้าในรุ่นสหรัฐอเมริกา [ 51 ] ตีพิมพ์ทั่วโลกในภาษาอังกฤษเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 2003 [ 52 ] แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสมตีพิมพ์วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 ทำยอดขาย 9 ล้านเล่มในการวางขาย 24 ชั่วโมงแรกทั่วโลก [ 53 ] [ 54 ] นิยายเล่มที่เจ็ดและสุดท้าย แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 [ 55 ] ทำยอดขาย 11 ล้านเล่มในช่วงวางขาย 24 ชั่วโมงแรก แบ่งเป็น 2.7 ล้านเล่มในสหราชอาณาจักร และ 8.3 ล้านเล่มในสหรัฐอเมริกา [ 56 ]
Read more: Willem Dafoe
หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นอีกอย่างน้อย 80 ภาษา [ 2 ] เล่มแรกนั้นได้รับการแปลเป็น ภาษาละติน และ ภาษากรีกโบราณ [ 57 ] โดยเป็นงานเขียนภาษากรีกโบราณที่ยาวที่สุดนับแต่นวนิยายของเฮลิโอโดรัสแห่งอีเมซาใน คริสต์ศตวรรษที่ 3 [ 58 ] การแปลหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นมีความยากลำบากหลายประการ เช่น จากการถ่ายทอดวัฒนธรรมโรงเรียนประจำแบบอังกฤษ การใช้ภาษาที่แสดงถึงบุคลิกภาพหรือสำเนียง รวมถึงการคิดค้นศัพท์ใหม่ ๆ ของผู้แต่งด้วย [ 59 ] นักแปลบางคนที่ได้รับว่าจ้างมาแปลหนังสือนั้นเป็นผู้ประพันธ์มีชื่อเสียงก่อนมีผลงานกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ อาทิ วิกตอร์ โกลูเชฟ ผู้ควบคุมการแปลหนังสือเล่มที่ห้าเป็นภาษารัสเซีย การแปลหนังสือเล่มสองถึงเจ็ดเป็นภาษาตุรกีอยู่ภายใต้การดูแลของเซวิน ออคเย นักวิจารณ์วรรณกรรมและผู้บรรยายวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยม [ 60 ] ด้วยเหตุผลด้านความลับ การแปลสามารถเริ่มต้นได้เฉพาะหลังหนังสือนั้นออกมาในภาษาอังกฤษแล้วเท่านั้น ซึ่งทำให้รุ่นภาษาอังกฤษถูกขายให้แก่แฟนที่รอไม่ไหวในประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษมากขึ้นทุกที จนทำให้เล่มที่ห้าในชุดกลายมาเป็นหนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรกและเล่มเดียวที่ขึ้นเป็นที่หนึ่งของรายการหนังสือขายดีในฝรั่งเศส [ 61 ] รุ่นสหรัฐอเมริกาของนวนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์ต้องผ่านการดัดแปลงข้อความเป็นภาษาอังกฤษแบบอเมริกันเสียก่อน เพราะคำหลายคำและหลายแนวคิดที่ใช้โดยตัวละครในนวนิยายนั้นอาจไม่เป็นที่เข้าใจแก่ผู้อ่านชาวอเมริกัน [ 62 ] ผลงานในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับแปลภาษาไทยได้รับการจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ในขณะที่ฉบับภาษาอังกฤษได้ออกมาแล้วสี่เล่ม โดยต้องเร่งแปลหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ทั้งสี่เล่มให้เสร็จโดยเร็วเพื่อง่ายต่อการแปลแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มที่ห้า ซึ่งโรว์ลิงยังเขียนไม่เสร็จ มีผู้แปลทั้งสิ้นสามคน ได้แก่ สุมาลี บำรุงสุข แปลเล่มที่หนึ่ง สอง ห้า หกและเจ็ด วลีพร หวังซื่อกุล แปลเล่มที่สาม และ งามพรรณ เวชชาชีวะ แปลเล่มที่สี่ หน้าปกฉบับภาษาไทยนั้นใช้ภาพแบบเดียวกับหน้าปกฉบับอเมริกัน ซึ่งเป็นผลงานของแมรี กรองด์เปร
บรรดานักอ่านผู้ชื่นชอบนิยายชุดนี้ล้วนเฝ้ารอการวางจำหน่ายตอนล่าสุดที่ร้านหนังสือทั่วโลก เริ่มจัดงานให้ตรงกับวันวางจำหน่ายวันแรกตอนเที่ยงคืน เริ่มตั้งแต่การตีพิมพ์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี ใน ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา กิจกรรมพิเศษระหว่างรอจำหน่ายมีมากมาย เช่น การแต่งกายเลียนแบบตัวละคร เล่นเกม ระบายสีหน้า และการแสดงอื่น ๆ ซึ่งได้รับความนิยมจากบรรดาแฟนพอตเตอร์และประสบความสำเร็จอย่างสูงในการดึงดูดแฟนและขายหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม ได้เกือบ 9 ล้านเล่ม จากจำนวนที่พิมพ์ไว้ครั้งแรก 10.8 ล้านเล่ม ภายใน 24 ชั่วโมงแรกของการวางแผง [ 63 ] [ 64 ] หนังสือเล่มสุดท้ายของชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต เป็นหนังสือที่ขายได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยขายได้ 11 ล้านเล่มในยี่สิบสี่ชั่วโมงแรกของการวางจำหน่าย [ 65 ] นวนิยายชุดนี้ยังสามารถครองใจกลุ่มนักอ่านผู้ใหญ่ได้ด้วย ทำให้มีการจัดพิมพ์หนังสือออกเป็น 2 ฉบับในแต่ละเล่ม ซึ่งในนั้นมีเนื้อหาเหมือนกันหมด เพียงแต่ฉบับหนึ่งทำปกสำหรับเด็ก อีกฉบับหนึ่งสำหรับผู้ใหญ่ [ 66 ] นอกเหนือไปจากการพบปะกันออนไลน์ผ่านบล็อก พ็อตแคสต์และแฟนไซต์แล้ว แฟนผู้คลั่งไคล้แฮร์รี่ พอตเตอร์ยังสามารถพบปะกันที่สัมมนาแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้ด้วย คำว่า “ มักเกิล “ ( Muggle ) ได้แพร่ออกไปนอกเหนือจากการใช้ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ และกลายเป็นหนึ่งในคำวัฒนธรรมสมัยนิยมไม่กี่คำได้บรรจุลง พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด [ 67 ] แฟนแฮร์รี่ พอตเตอร์ฟังพ็อตแคสต์เป็นประจำ โดยมากทุกสัปดาห์ เพื่อเข้าใจการอภิปรายล่าสุดในหมู่แฟน ทั้งมักเกิลแคสต์และพอตเตอร์แคสต์ [ 68 ] ได้แตะระดับอันดับสูงสุดของไอทูนส์และได้รับการจัดอันดับอยู่ในพ็อตแคสต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 50 อันดับแรก [ 69 ]
แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย ตั้งแต่การพิมพ์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ครั้งแรก รวมทั้งรางวัลหนังสือวิตเทกเกอร์แพลตินัมสี่รางวัล ( ทั้งหมดได้รับเมื่อ ค.ศ. 2001 ) [ 70 ] รางวัลหนังสือเนสเล่สมาร์ตตีส์สามรางวัล ( ค.ศ. 1997-1999 ) [ 71 ], รางวัลหนังสือสภาศิลปะสกอตสองรางวัล ( ค.ศ. 1999 และ 2001 ) [ 72 ], รางวัลหนังสือเด็กแห่งปีวิตเบรดเล่มแรก ( ค.ศ. 1999 ) [ 73 ], และหนังสือแห่งปีดับเบิลยูเอชสมิท ( ค.ศ. 2006 ) [ 74 ] และอื่น ๆ ใน ค.ศ. 2000 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลฮิวโกนวนิยายยอดเยี่ยม และใน ค.ศ. 2001 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี ได้รับรางวัลดังกล่าว [ 75 ] เกียรติยศที่ได้นั้นมีทั้งการมอบ เหรียญรางวัลคาร์เนกี ( ค.ศ. 1997 ) [ 76 ], รายชื่อสั้นสำหรับรางวัลเด็กการ์เดี้ยน ( ค.ศ. 1998 ) และอยู่ในรายการหนังสือมีชื่อเสียง หนังสือที่คัดเลือกโดยบรรณาธิการ และรายการหนังสือดีที่สุดของสมาคมหอสมุดอเมริกา, เดอะนิวยอร์กไทมส์, หอสมุดสาธารณะชิคาโก และพับลิชเชอร์วีกลี [ 77 ]
ความสำเร็จของนวนิยายชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้สร้างความมั่งคั่งให้แก่ เจ. เค. โรว์ลิง ผู้ประพันธ์ ตลอดไปจนถึงสำนักพิมพ์และผู้ถือสิทธิ์ด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้งหมด โรว์ลิงได้รับผลตอบแทนมากจนกระทั่งนับได้ว่าเป็นนักเขียนเพียงคนเดียวที่ติดอันดับ “ มหาเศรษฐี ” ของโลก [ 78 ] มีการจำหน่ายหนังสือไปแล้วกว่า 400 ล้านเล่มทั่วโลก และช่วยนำกระแสนิยมให้แก่ภาพยนตร์ชุดดัดแปลงโดย วอร์เนอร์บราเธอร์ส ด้วย ภาพยนตร์ดัดแปลงในแต่ละตอนต่างประสบความสำเร็จไปตามกัน สามารถติดอันดับเป็น ภาพยนตร์ทำเงินตลอดกาล ในทุกภาคที่เข้าฉาย [ 79 ] [ 80 ] ชุดภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นได้รับการต่อยอดไปสู่รูปแบบวิดีโอเกมและสินค้าจดลิขสิทธิ์กว่า 400 รายการ ซึ่งมูลค่าโดยประมาณของแบรนด์แฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นมีมูลค่าสูงกว่ากว่า 25,000 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ [ 9 ] ทำให้โรว์ลิงกลายเป็นมหาเศรษฐีระดับพันล้าน [ 81 ] ในรายงานเปรียบเทียบบางแห่งยังกล่าวว่าเธอร่ำรวยกว่า สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสียอีก [ 82 ] [ 83 ] ทว่าโรว์ลิงชี้แจงว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง [ 84 ] ความต้องการอย่างสูงในหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ทำให้ นิวยอร์กไทมส์ ตัดสินใจเปิดอันดับหนังสือขายดีอีก 1 ประเภทสำหรับ วรรณกรรมเด็ก โดยเฉพาะเมื่อปี ค.ศ. 2000 ก่อนการวางจำหน่าย แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 2000 และหนังสือของโรว์ลิงก็อยู่บนอันดับหนังสือขายดีนี้ติดต่อกันเป็นเวลายาวนานถึง 79 สัปดาห์ โดยที่ทั้งสามเล่มแรกเป็นหนังสือขายดีในประเภทหนังสือปกแข็งด้วย [ 85 ] การจัดส่งหนังสือชุด ถ้วยอัคนี ต้องใช้รถบรรทุกของ เฟดเอกซ์ กว่า 9,000 คันเพื่อการส่งหนังสือเล่มนี้เพียงอย่างเดียว [ 86 ] วันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 2007 ร้านหนังสือ บาร์นส์แอนด์โนเบิล ประกาศว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต ได้ทำลายสถิติหนังสือจองผ่านเว็บไซต์โดยมียอดจองมากกว่า 500,000 เล่ม [ 87 ] เมื่อนับรวมทั้งเว็บของบาร์นส์แอนด์โนเบิล กับอเมซอนดอตคอม จะเป็นยอดจองล่วงหน้ารวมกันมากกว่า 700,000 เล่ม [ 86 ] แต่เดิมสถิติการพิมพ์หนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรกใน สหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 3.8 ล้านเล่ม [ 86 ] แต่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ ทำลายสถิตินี้ด้วยยอดพิมพ์ครั้งแรก 8.5 ล้านเล่ม และต่อมาก็ถูกทำลายสถิติลงอีกด้วย แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม ที่ 10.8 ล้านเล่ม [ 88 ] ในจำนวนนี้ได้ขายออกไป 6.9 ล้านเล่มภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังจากวางจำหน่าย ส่วนในอังกฤษได้ขายออกไป 2 ล้านชุดภายในวันแรก [ 89 ] อย่างไรก็ตามหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ซึ่งเป็นหนังสือเล่มสุดท้าย ก็ได้ทำลายสถิติก่อนหน้าลง ด้วยยอดขายกว่า 11 ล้านเล่ม ในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงแรกของการจำหน่าย [ 3 ] โดยมียอดสั่งจองล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ อเมซอน และร้านหนังสือบาร์นส์แอนด์โนเบิลกว่า 1 ล้านเล่ม [ 90 ]
ในช่วงแรก ๆ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างดี ทำให้นวนิยายชุดนี้ขยายฐานผู้อ่านออกไปอย่างมาก หนังสือเล่มแรกของชุดคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ได้จุดประเด็นความสนใจแก่หนังสือพิมพ์ของสกอตแลนด์หลายเล่ม เช่น The Scotsman บอกว่าหนังสือเล่มนี้ “ มีทุกอย่างของความคลาสสิก ” [ 91 ] หรือ The Glasgow Herald ตั้งสมญาให้ว่าเป็น “ สิ่งมหัศจรรย์ ” [ 91 ] ไม่นานหนังสือพิมพ์ของทางอังกฤษก็เข้าร่วมวงด้วย มีหนังสือพิมพ์มากกว่า 1 เล่มเปรียบเทียบงานเขียนชุดนี้กับงานของ โรอัลด์ ดาห์ล หนังสือพิมพ์ The Mail on Sunday เรียกหนังสือเล่มนี้ว่าเป็น “ งานเขียนที่เปี่ยมจินตนาการนับแต่ยุคของโรอัลด์ ดาห์ล ” [ 91 ] ส่วน The Guardian เรียกหนังสือนี้ว่า “ นวนิยายอันงดงามที่สร้างโดยนักประดิษฐ์อัจฉริยะ ” [ 91 ] ครั้นเมื่อหนังสือออกวางจำหน่ายถึงเล่มที่ห้า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ นวนิยายก็ได้รับการวิจารณ์ที่หนักหน่วงขึ้นจากเหล่านักวิชาการด้านวรรณกรรม เฮโรลด์ บลูม ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเยล นักวิชาการวรรณศิลป์และนักวิจารณ์ เป็นผู้ยกประเด็นการวิจารณ์วรรณกรรมเกี่ยวกับศีลธรรม เขากล่าวว่า “ ในใจของโรว์ลิงมีแต่เรื่องอุปมาเกี่ยวกับความตายวนไปวนมา ไม่มีลีลาการเขียนแบบอื่นเลย ” [ 92 ] เอ. เอส. ไบแอต นักเขียนประจำนิวยอร์กไทมส์ บอกว่าจักรวาลในเรื่องของโรว์ลิงสร้างขึ้นจากจินตนาการที่ผสมปนเปจากวรรณกรรมเด็กหลาย ๆ เรื่อง และเขียนขึ้นเพื่อคนที่มีจินตนาการหมกมุ่นกับการ์ตูนทีวี โลกในฟองสบู่ที่เว่อร์เกินจริง รายการรีแอลิตี และข่าวซุบซิบดารา [ 93 ] นักวิจารณ์ชื่อ แอนโทนี โฮลเดน เขียนความรู้สึกของเขาจากการตัดสินรางวัลวิทเบรด ปี ค.ศ. 1999 ส่วนที่เกี่ยวกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน ไว้ใน The Observer โดยที่ค่อนข้างมีมุมมองไม่ค่อยดี เขากล่าวว่า “ มหากาพย์พอตเตอร์เป็นงานอนุรักษนิยม ย้อนยุค โหยหาความเป็นอดีตและระบบอุปถัมภ์ในอดีตของอังกฤษที่ผ่านไปแล้ว ” เขายังวิจารณ์อีกว่าเป็น “ งานเขียนร้อยแก้วที่ผิดไวยากรณ์ ใช้สำนวนตลาด ” [ 94 ] แต่ในทางตรงกันข้าม เฟย์ เวลดอน นักเขียนผู้ยอมรับว่านวนิยายชุดนี้ “ ไม่ใช่งานที่กวีจะชื่นชอบ ” แต่ก็ยอมรับว่า “ มันไม่ใช่กวีนิพนธ์ มันเป็นร้อยแก้วที่อ่านเข้าใจง่าย อ่านได้ทุกวัน และขายได้ ” [ 95 ] เอ. เอ็น. วิลสัน นักวิจารณ์วรรณกรรม ยกย่องนวนิยายชุดนี้ใน The Times โดยระบุว่า “ มีนักเขียนไม่มากนักเหมือนอย่างเจ. เค. ผู้มีความสามารถดังหนึ่ง ดิกคินส์ ที่ทำให้เราต้องรีบพลิกอ่านหน้าต่อไป ทำให้เราร้องไห้อย่างไม่อาย พอไม่กี่หน้าถัดไปเราก็ต้องหัวเราะกับมุกตลกที่แทรกอยู่สม่ำเสมอ … เรามีชีวิตอยู่ตลอดทศวรรษที่เฝ้าติดตามงานตีพิมพ์อันมีชีวิตชีวาที่สุด สนุกสนานที่สุด เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กที่โดดเด่นที่สุดเท่าที่เคยมีมา ” [ 96 ] ชาลส์ เทย์เลอร์ แห่ง salon.com นักวิจารณ์ภาพยนตร์ เห็นด้วยกับความคิดของไบแอต แต่เขาก็ยอมรับว่าผู้ประพันธ์อาจจะ “ มีจุดยืนทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง คือความเป็นวัยรุ่น มันเป็นแรงกระตุ้นของพวกเราที่จะเข้าใจความเหลวไหลของยุคสมัยใหม่ ซึ่งแตกต่างกับความซับซ้อนของศิลปะยุคเดิม ” [ 97 ] สตีเฟน คิง เรียกนวนิยายชุดนี้ว่า “ ความกล้าหาญซึ่งผู้มีจินตนาการอันล้ำเลิศเท่านั้นจึงจะทำได้ ” และยกย่องการเล่นถ้อยคำสำนวนตลอดจนอารมณ์ขันของโรว์ลิงในนิยายชุดนี้ว่า “ โดดเด่น ” แม้เขาจะบอกว่านิยายชุดนี้จัดว่าเป็นนิยายที่ดี แต่ก็บอกด้วยว่า ในตอนต้นของหนังสือทั้งเจ็ดเล่มที่พบแฮร์รี่ที่บ้านลุงกับป้านั้นค่อนข้างน่าเบื่อ [ 33 ] คิงยังว่า “ โรว์ลิงจะไม่ใช้คำขยายความที่เธอไม่ชอบ ! ” เขายังทำนายด้วยว่า นวนิยายชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ “ จะยืนยงท้าทายการทดสอบของกาลเวลา และอยู่บนหิ้งที่เก็บหนังสือดีที่สุดเท่านั้น ผมคิดว่าแฮร์รี่ได้เทียบขั้นกับ อลิซ, ฮัค, โฟรโด และ โดโรธี แล้ว นิยายชุดนี้จะไม่โด่งดังเพียงทศวรรษนี้ แต่จะยืนยงตลอดกาล ” [ 98 ]
นิตยสารไทมส์ประกาศให้โรว์ลิงเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิ์เป็น “ บุคคลแห่งปี ” ของไทมส์ในปี ค.ศ. 2007 ในฐานะที่มีผลงานโดดเด่นทางสังคมและวัฒนธรรมซึ่งสร้างแรงบันดาลใจอย่างมากต่อกลุ่มแฟนคลับของเธอ [ 99 ] ทว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ทางด้านสังคมและวัฒนธรรมที่มีต่อนิยายชุดนี้ก็มีทั้งด้านดีและไม่ดีปะปนกัน นักวิจารณ์หนังสือจากวอชิงตันโพสต์ รอน ชาลส์ แสดงความเห็นของเขาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2007 ว่าจำนวนผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่จำนวนมากซึ่งอ่านหนังสืออื่นค่อนข้างน้อย อาจสะท้อนถึงตัวอย่างที่ไม่ดีของวัฒนธรรมวัยเด็ก รูปแบบการนำเสนอแบบตรงไปตรงมาในเรื่องที่แยกระหว่าง “ ความดี-ความเลว ” อย่างชัดเจนนั้นก็เป็นแนวทางแบบเด็ก ๆ เขายังบอกว่า ไม่ใช่ความผิดของโรว์ลิงเลย แต่วิธีทางการตลาดแบบ “ ฮีสทีเรีย ” ( กรี๊ดกร๊าดคลั่งไคล้อย่างรุนแรง ) ที่ปรากฏให้เห็นในการตีพิมพ์หนังสือเล่มหลัง ๆ “ ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่พากันหลงใหลเสียงกรีดร้องในโรงมหรสพ ประสบการณ์สื่อแบบมหาชนซึ่งนิยายอื่นอาจจะทำให้ไม่ได้ ” [ 100 ] เจนนี่ ซอว์เยอร์ เขียนไว้ใน Christian Science Monitor เมื่อ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 ว่า หนังสือชุดนี้เป็นตัวแทนถึง “ จุดเปลี่ยนค่านิยมการเล่านิทานและสังคมตะวันตก ” โดยที่ในนิยายชุดนี้ “ หัวใจแห่งศีลธรรมกำลังเหือดหายไปจากวัฒนธรรมยุคใหม่ … หลังจากผ่านไป 10 ปี, 4195 หน้า และ 375 ล้านเล่ม ท่ามกลางความสำเร็จอย่างสูงยิ่งของ เจ. เค. โรว์ลิง แต่เสาหลักของวรรณกรรมเด็กอันยิ่งใหญ่กลับขาดหายไป นั่นคือการเดินทางของวีรบุรุษเพื่อยืนหยัดความถูกต้อง ” ซอว์เยอร์กล่าวว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ ไม่เคยประสบความท้าทายทางศีลธรรม ไม่เคยตกอยู่ใต้ภาวะลำบากระหว่างความถูกผิด ดังนั้นจึง “ ไม่เคยมีสถานการณ์ใดที่ความถูกผิดไม่เป็นสีขาวและสีดำ ” [ 101 ] คริส ซุลเลนทรอพ ให้ความเห็นคล้ายคลึงกันใน Slate Magazine เมื่อ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 เขาเปรียบพอตเตอร์ว่าเป็น “ เด็กผู้เป็นที่ไว้วางใจและชื่นชมที่โรงเรียน อันเป็นผลงานส่วนมากจากของขวัญที่เพื่อนและครอบครัวทุ่มเทให้ ” เขาสังเกตว่า ในนิยายของโรว์ลิงนั้น ศักยภาพและความสามารถทางเวทมนตร์เป็น “ สิ่งที่คุณเกิดมาพร้อมกับมัน ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะไขว่คว้ามาได้ ” ซุลเลนทรอพเขียนว่า คำคมของดัมเบิลดอร์ที่ว่า “ เราต้องเลือกเองที่จะแสดงตัวตนที่แท้จริงที่ยิ่งใหญ่กว่าความสามารถของเรา ” เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ ในเมื่อโรงเรียนที่ดัมเบิลดอร์บริหารอยู่นั้นให้ความสำคัญกับพรสวรรค์ที่มีมาแต่กำเนิดมากกว่าอะไรทั้งนั้น [ 102 ] อย่างไรก็ดี ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 2007 คริสโตเฟอร์ ฮิทเชนส์ รีวิว แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต โดยยกย่องโรว์ลิงว่าได้ปรับเปลี่ยน “ นิทานเกี่ยวกับโรงเรียนในอังกฤษ ” ที่มีมาแต่ไหนแต่ไร ที่เคยมีแต่เรื่องเพ้อฝัน ความร่ำรวย ชนชั้น และความเป็นผู้ดี ให้กลายเป็น “ โลกของประชาธิปไตยและความเปลี่ยนแปลงของวัยหนุ่มสาว ” [ 103 ]
หนังสือชุดนี้ตกเป็นประเด็นโต้แย้งทางกฎหมายมากมายหลายคดี มีทั้งการฟ้องร้องจากกลุ่มคริสเตียนอเมริกันว่าการใช้เวทมนตร์คาถาในหนังสือเป็นการเชิดชูศิลปะของพวกพ่อมดแม่มดให้แพร่หลายในหมู่เด็ก ๆ รวมถึงข้อขัดแย้งอีกหลายคดีเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า การที่นวนิยายชุดนี้เป็นที่นิยมอย่างมากและครอบครองมูลค่าตลาดสูงมาก ทำให้โรว์ลิง สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ของเธอ รวมถึงวอร์เนอร์ บราเธอร์ ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อปกป้องลิขสิทธิ์ของตน ทั้งนี้รวมถึงการห้ามจำหน่ายสินค้าลอกเลียนแบบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เหล่าเจ้าของเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ใช้ ชื่อโดเมน คาบเกี่ยวกับคำว่า “ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ” พวกเขายังฟ้องนักเขียนอีกคนหนึ่งคือ แนนซี สโตฟเฟอร์ เพื่อตอบโต้การที่เธอออกมากล่าวอ้างว่า โรว์ลิงลอกเลียนแบบงานเขียนของเธอ [ 104 ] [ 105 ] [ 106 ] กลุ่มนักอนุรักษนิยมทางศาสนาจำนวนมากอ้างว่า หนังสือชุดนี้เชิดชูศาสตร์ของพ่อมดแม่มด ดังนั้นจึงไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก [ 107 ] นอกจากนี้ยังมีนักวิจารณ์อีกจำนวนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ว่าหนังสือชุดนี้มีแง่มุมทางการเมืองซ่อนอยู่หลายประการ [ 108 ] [ 109 ]
ดูบทความหลักที่: ภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ในปี 1998 โรว์ลิงได้ขายลิขสิทธิ์ของหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์สี่เล่มแรกให้แก่ทาง วอร์เนอร์ บราเธอร์ส เป็นเงินจำนวน 1 ล้านปอนด์ ( 1,982,900 ดอลลาร์สหรัฐ ) ตามที่ได้มีการรายงานไว้ [ 110 ] [ 111 ] โดยเธอต้องการให้ผู้สร้างมีความซื่อตรงต่อบทประพันธ์ด้วยการคัดเลือกนักแสดงหลักของเรื่องให้เป็นคนอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวก็ได้รับการยกเว้นให้แก่ ริชาร์ด แฮร์ริส นักแสดงชาวไอริช ที่รับบทเป็นศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์ในสองภาคแรก ส่วนการคัดเลือกนักแสดงชาวฝรั่งเศสและชาวยุโรปตะวันออกในภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี นั้นก็ยังคงซื่อตรงกับหนังสือต้นฉบับอยู่เช่นกัน [ 112 ] หลังจากที่ผู้สร้างได้พิจารณาผู้กำกับมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สตีเวน สปีลเบิร์ก, เทรี กิลเลียม, โจนาธาน เดมมี และ อลัน ปาร์คเกอร์ พวกเขาก็ได้เลือกให้ คริส โคลัมบัส รับหน้าที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ในวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 2000 เนื่องจากทางวอเนอร์ บราเธอร์สได้มองเห็นว่าโคลัมบัสเคยมีผลงานสร้างภาพยนตร์แนวครอบครัวและเคยมีประสบการณ์กำกับภาพยนตร์กับเด็กมาแล้วใน โดดเดี่ยวผู้น่ารัก และ คุณนายเด๊าท์ไฟร์ พี่เลี้ยงหัวใจหนุงหนิง [ 113 ] หลังจากที่ได้มีการคัดเลือกนักแสดงอย่างเข้มข้น การถ่ายทำภาพยนตร์ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2000 ที่สตูดิโอภาพยนตร์ลีฟส์เดน ในกรุง ลอนดอน [ 114 ] ก่อนที่งานสร้างทั้งหมดจะสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2001 ภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ได้ออกฉายในวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 2001 ซึ่งภาพยนตร์ภาคต่ออย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ ก็ได้ถูกเปิดกล้องขึ้นหลังจากนั้นเพียง 3 วัน โดยมีผู้กำกับเป็นโคลัมบัสตามเดิม โดยการถ่ายทำได้เสร็จสิ้นลงในช่วงฤดูร้อนของปี 2002 และออกฉายในวันที่ 15 พฤศจิกายน ในปีเดียวกัน [ 115 ] ซึ่ง แดเนียล แรดคลิฟฟ์, รูเพิร์ท กรินท์ และ เอ็มมา วัตสัน ก็ได้รับบทเป็นตัวละครหลักอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์, รอน วิสลีย์ และ เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ ในภาพยนตร์ทุกภาคตามลำดับ โคลัมบัสปฏิเสธที่จะกลับมากำกับภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน โดยได้เลือกร่วมงานในฐานะผู้อำนวยการสร้างเพียงเท่านั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงได้ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเม็กซิกันอย่าง อัลฟอนโซ กัวรอน มารับหน้าที่แทน หลังจากที่ได้มีการถ่ายทำไปในปี 2003 ภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบันก็ออกฉายในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 2004 โดยงานสร้างของภาพยนตร์ภาคที่สี่ได้ดำเนินไปก่อนที่ภาพยนตร์ภาคที่สามจะออกฉาย ซึ่งทางผู้สร้างก็ได้เลือกให้ ไมค์ นิวเวลล์ มารับหน้าที่กำกับภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี ก่อนที่ภาพยนตร์จะออกฉายในวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005 [ 116 ] ซึ่งนิวเวลล์ก็ถือเป็นผู้กำกับชาวอังกฤษคนแรกที่ได้กำกับภาพยนตร์ชุดนี้ จากนั้นผู้กำกับภาพยนตร์โทรทัศน์อย่าง เดวิด เยตส์ ก็ได้รับโอกาสให้มากำกับภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ โดยงานสร้างภาพยนตร์ได้เริ่มต้นขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 2006 ก่อนที่ภาพยนตร์จะออกฉายในเดือนกรกฎาคมของปี 2007 [ 117 ] ทางฝ่ายบริการต่าง “ รู้สึกชื่นชอบ ” ในผลงานการกำกับของเยตส์เป็นอย่างมาก เขาจึงได้รับโอกาสให้กำกับภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม ต่อ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องที่หกนี้ก็ได้ออกฉายในวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2009 [ 118 ] [ 119 ]
ในเดือนมีนาคม ปี 2008 อลัน ฮอร์น ประธานและประธานฝ่ายปฏิบัติการของทางวอร์เนอร์ บราเธอร์สได้ออกมาระบุว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ภาพยนตร์ภาคสุดท้ายนั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ภาค โดย ภาคที่ 1 นั้นจะออกฉายในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 และ ภาค 2 จะออกฉายในวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2011 โดยงานสร้างของภาพยนตร์ทั้งสองภาคนั้นได้เริ่มต้นขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2009 ก่อนที่จะปิดกล้องลงในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 2010 [ 122 ] [ 123 ] นอกจากนี้ โรว์ลิงก็ยังได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ชุดนี้อีกด้วย โดยเธอได้รับหน้าที่สังเกตงานสร้างของภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ และรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างในภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูตทั้งสองภาคร่วมกับเดวิด เฮย์แมนและเดวิด แบร์รอน [ 124 ] ภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ประสบความสำเร็จในด้านรายได้ทั้งสิ้น ซึ่งภาพยนตร์ทั้งแปดภาคก็ล้วนแต่ติดอันดับ ภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุด โดยแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ภาค 2 จัดเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้มากที่สุด ในขณะที่แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบันถือเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้น้อยที่สุดในชุด [ 125 ] นอกจากจะประสบความสำเร็จด้านรายได้แล้ว ภาพยนตร์ชุดนี้ยังประสบความสำเร็จในแง่คำวิจารณ์อีกด้วย [ 126 ] [ 127 ] ความคิดเห็นของเหล่าแฟนคลับที่มีต่อภาพยนตร์ชุดนี้มีความแตกต่างกันออกไป โดยกลุ่มหนึ่งรู้สึกชื่นชอบความซื่อตรงต่อบทประพันธ์ของภาพยนตร์สองภาคแรก ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งกลับชอบรูปแบบการเล่าเรื่องผ่านตัวละครอันน่าจดจำของภาพยนตร์ภาคท้าย ๆ มากกว่า [ 128 ] ซึ่งโรว์ลิงนั้นก็ได้ให้ความเห็นเชิงสนับสนุนภาพยนตร์ทุกภาคเสมอมา และได้ยกให้ภาพยนตร์ภาคเครื่องรางยมทูตเป็น “ ภาพยนตร์เรื่องโปรด ” ของเธอในภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ทั้งหมด [ 129 ] [ 130 ] [ 131 ] [ 132 ] เธอได้แสดงความคิดเห็นเรื่องการปรับเปลี่ยนเนื้อหาจากหนังสือเป็นภาพยนตร์เอาไว้ในเว็บไซต์ของเธอว่า “ มันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บเนื้อหาทุกส่วนที่ฉันได้เล่าไปไว้ในภาพยนตร์ที่ต้องมีความยาวน้อยกว่า 4 ชั่วโมง เห็นได้ชัดว่าภาพยนตร์มีข้อจำกัดที่นวนิยายไม่มี ทั้งเรื่องเวลาและงบประมาณที่จำกัด ดังนั้น ฉันก็คงทำอะไรไม่ได้ไปมากไปกว่าการอาศัยให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างจินตนาการของฉันกับผู้อ่านได้ทำหน้าเชื่อมต่อเข้าหากันด้วยตัวของมันเอง ” [ 133 ] ในงานประกาศ รางวัลบาฟต้า ครั้งที่ 64 ที่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 โรว์ลิง กับผู้อำนวยการสร้าง เดวิด เฮย์แมนและเดวิด แบร์รอน พร้อมด้วยผู้กำกับภาพยนตร์เดวิด เยตส์, อัลฟอนโซ กัวรอน และไมค์ นิวเวลล์ ได้ขึ้นรับรางวัลเชิดชูเกียรติภาพยนตร์อังกฤษอันโดดเด่นแห่งยุค ( Michael Balcon Award for Outstanding british Contribution to Cinema ) ที่มอบแด่ภาพยนตร์ทุกเรื่องของชุด โดยรูเพิร์ท กรินท์ และเอ็มม่า วัตสัน ก็ได้เดินทางมาร่วมงานเช่นกัน [ 134 ] [ 135 ]
ภาพยนตร์ภาคแยกประกอบด้วยภาพยนตร์ทั้งหมด 5 ภาคซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเนื้อหาในภาพยนตร์ชุดหลัก [ 136 ] ภาพยนตร์ภาคแรก สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ เข้าฉายในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2016 ก่อนที่ภาพยนตร์ภาคต่ออย่าง สัตว์มหัศจรรย์ : อาชญากรรมของกรินเดลวัลด์ เข้าฉายในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2018 ส่วนภาพยนตร์สามภาคหลังนั้นจะเข้าฉายในปี 2021, 2022 และ 2024 ตามลำดับ [ 137 ] โดยโรว์ลิงก็ยังได้มีส่วนร่วมในการเขียนบทภาพยนตร์ทั้งสามภาคแรก [ 138 ] ซึ่งถือเป็นงานเขียนบทภาพยนตร์ครั้งแรกของเธออีกด้วย
แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้ถูกนำไปดัดแปลงและจำหน่ายในรูปแบบ วิดีโอเกม ไปกว่า 13 ภาค โดย 8 ภาคนั้นได้ดำเนินเนื้อหาตามภาพยนตร์และหนังสือ ส่วนอีก 5 ภาคนั้นเป็นวิดีโอเกมภาคแยก ในส่วนของวิดีโอเกมที่อิงเนื้อหาจากภาพยนตร์และหนังสือนั้นได้รับการผลิตและพัฒนาโดยบริษัทเกม อิเลคโทรนิค อาร์ต หรือ อีเอ ซึ่งภายหลังยังได้พัฒนาเกมภาคเสริมอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์: ควิดดิช เวิลด์ คัพ ขึ้นมาอีกด้วย ทางอีเอได้เริ่มวางจำหน่ายเกมแฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ อันเป็นเกมภาคแรกของชุดในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2001 ก่อนที่เกมภาคนี้จะได้กลายมาเป็นหนึ่งในเกม เพลย์สเตชัน ที่ขายดีที่สุดตลอดกาล [ 139 ] วิดีโอเกมภาคนี้ได้รับการวางจำหน่ายในช่วงเดียวกันกับที่ภาพยนตร์ภาคแรกเข้าฉาย มีการใช้ฉากและรายละเอียดต่าง ๆ รวมไปถึงได้มีการใส่บรรยากาศและอารมณ์ที่ถูกบรรยายไว้ในหนังสือเข้ามาอีกด้วย ภารกิจที่ผู้เล่นจะต้องทำนั้นจะเกิดขึ้นในหรือรอบ ๆ บริเวณฮอกวอตส์ และสถานที่อื่น ๆ ของโลกเวทมนตร์ เรื่องราวและการออกแบบต่าง ๆ ภายในเกมนั้นยังได้หยิบยกมาจากเนื้อหาและงานสร้างของภาพยนตร์ โดยทางอีเอเองก็ได้ทำงานร่วมกับทางวอร์เนอร์ บราเธอร์สอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะสามารถนำฉากต่าง ๆ ในภาพยนตร์มาใช้ในรูปแบบวิดีโอเกมได้ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต วิดีโอเกมภาคสุดท้ายของชุดได้ถูกแบ่งออกเป็นสองภาคเช่นเดียวกับภาพยนตร์ และเกมทั้งสองภาคได้รับการวางจำหน่ายในเดือนเดียวกับที่ภาพยนตร์ออกฉาย ซึ่งเกมสองภาคสุดท้ายนี้ได้นำเสนอภาพการต่อสู้และความรุนแรงเอาไว้อยู่มาก โดยผู้เล่นจะต้องสลับบทบาทการเล่นในรูปแบบมุมมองบุคคลที่ 3 และต้องใช้ไม้กายสิทธิ์ในการเสกคาถาโจมตีฝั่งตรงข้าม [ 140 ] ในส่วนของวิดีโอเกมภาคแยกนั้น บริษัททราเวลเลอร์ส เทลส์ ได้พัฒนาเกม เลโก แฮร์รี่ พอตเตอร์: เยียร์ 1-4 และ เลโก แฮร์รี่ พอตเตอร์: เยียร์ 5-7 ขึ้น ซึ่งเนื้อหาของเกมทั้งสองภาคนั้นไม่ได้ดำเนินเรื่องตามเส้นเรื่องหลักของหนังสือและภาพยนตร์ เช่นเดียวกับทาง เอสซีอี ลอนดอน เอนเตอร์เทนเมนท์ ที่ได้พัฒนาเกมภาคแยก บุ๊คออฟสเปลส์ และ บุ๊คออฟโพชั่นส์ ขึ้นเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของ วันเดอร์บุ๊ค อุปกรณ์เชื่อมต่อระบบ ความเป็นจริงเสริม ( AR ) ที่จำเป็นต้องใช้ร่วมกันกับเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชันมูฟและเพลย์สเตชันอายส์ [ 141 ] นอกจากนี้ สถานที่และตัวละครจักรวาลของแฮร์รี่ พอตเตอร์ยังได้ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของเกม เลโก ไดเมนชัน ในชื่อ แฮร์รี่ พอตเตอร์ แอดเวนเจอร์ เวิลด์ ซึ่งผู้เล่นจะสามารถควบคุมตัวละครแฮร์รี่, โวลเดอมอร์ และเฮอร์ไมโอนี่ได้อีกด้วย ในปี 2017 ทางวอร์เนอร์ บราเธอร์ส อินเตอร์แอ็กทีฟ เอนเตอร์เทนเมนท์ ได้เปิดตัวสตูดิโอออกแบบเกมแฮร์รี่ พอตเตอร์ในชื่อ พอร์ทคีย์ เกม ขึ้น ก่อนที่จะปล่อยเกม แฮร์รี่ พอตเตอร์ : ฮอกวอตส์มิสทะรี และ แฮร์รี่ พอตเตอร์ : วิซาร์ด ยูไนท์ ออกมาให้ผู้ใช้ ไอโอเอส และ แอนดรอยด์ ได้ดาวน์โหลดในปี 2018 และ 2019 ตามลำดับ [ 142 ]
แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้รับการวางแผนให้ได้รับการดัดแปลงในรูปแบบละครเวทีซึ่งจะนำเนื้อหาจากหนังสือนิยายต้นฉบับมาดัดแปลง โดยจะใช้การร้องเพลงเป็นตัวดำเนินเรื่องและในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 2013 เจ.เค.โรว์ลิ่งได้ประกาศว่าเธอกำลังทำงานในฐานะผู้อำนวยการสร้างของแฮร์รี่ พอตเตอร์ในรูปแบบละครเวที โดยเธอระบุว่าเนื้อหาของละครเวทีเรื่องนี้จะเป็นเรื่องราวซึ่งยังไม่เคยถูกเล่า เกิดในช่วงก่อนที่แฮร์รี่จะกำพร้าพ่อแม่และถูกพวกเดอร์สลีย์รับมาเลี้ยง [ 143 ] [ 144 ] โรว์ลิ่งได้เปิดเผยข้อมูลผ่านทวิตเตอร์ในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 2015 ซึ่งตรงกับวันครบรอบการวางแผงหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มแรกว่าละครเวทีแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นจะใช้ชื่อการแสดงว่า “ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเด็กต้องคำสาป ” [ 145 ] โดยคาดการณ์ว่าจะเริ่มเปิดการแสดงในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 2016 ที่โรงละครพาเลซเธียเตอร์ [ 146 ] ซึ่งบัตรเข้าชมในช่วงสี่เดือนแรกหรือช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายนถูกขายหมดในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังเปิดจำหน่าย [ 147 ] ภายหลังในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 ได้มีการเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ พอตเตอร์มอร์ ว่าบทละครจะถูกตีพิมพ์จำหน่ายในรูปแบบหนังสือหนึ่งวันหลังรอบปฐมทัศน์โลกของละครเวที และเหตุการณ์ในเรื่องจะเกิดขึ้นสิบเก้าปีให้หลังจากบทจบของ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต โดยบางกลุ่มได้จัดบทละครที่จะถูกตีพิมพ์นี้เป็นหนังสือเล่มที่แปด แม้จะไม่ได้ถูกเขียนโดย เจ. เค. โรว์ลิ่ง ที่ก็ตาม [ 148 ]
แฮร์รี่ พอตเตอร์มีอิทธิพลต่อสื่อทางด้านวงดนตรี ร็อก ของกลุ่มวัยรุ่นชายเป็นอย่างมาก ในปี ค.ศ. 2002 ได้มีผลสำรวจว่ามีวงดนตรีร็อกของกลุ่มวัยรุ่นที่ได้รับแรงบันดาลใจหรืออิทธิพลจากแฮร์รี่ พอตเตอร์มากมายหลายร้อยวงด้วยกัน [ 149 ] วงที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือวง “ แฮร์รีแอนด์เดอะพอตเตอร์ส “ ซึ่งเป็นวงดนตรี อินดี้ร็อก ที่นำเสนอเพลงแบบเรียบง่าย พวกเขาได้นำเนื้อหาบางส่วนในหนังสือมาแต่งเป็นบทเพลงของตน
หลังจาก แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต วางแผงได้ไม่นานนัก ทางประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการวางแผนและทำแบบแปลนการสร้างสวนสนุกที่ยูนิเวอร์แซลออร์แลนโดรีสอร์ต เมือง ออร์แลนโด รัฐฟลอริดา โดยจำลองสถานที่ต่าง ๆ ในวรรณกรรมแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่เกี่ยวกับสถานที่ในโลกเวทมนตร์เช่น ฮอกวอตส์ และหมู่บ้านฮอกส์มี้ด เป็นต้น สวนสนุกแห่งนี้วางแผนการสร้างโดย จิม ฮิล มีแบบจำลองปราสาท ฮอกวอตส์ รวมไปถึงหมู่บ้านฮอกส์มีดส์อีกด้วย ผู้สร้างสวนสนุกยังได้เชิญ เจ. เค. โรว์ลิง ให้มาร่วมทำการเนรมิตสวนสนุกแห่งนี้ เพื่อทำให้เหมือนกับสถานที่ในหนังสือของเธอให้มากที่สุด ซึ่งโรว์ลิงก็ตอบตกลง สวนสนุกตั้งอยู่ในไอส์แลนด์ส ออฟ แอดเวนเจอร์ซึ่งเป็นเกาะรวมเครื่องเล่นแนวผจญภัยของยูนิเวอร์แซลออร์แลนโดรีสอร์ท โดยได้ใช้ชื่อว่าอย่างเป็นทางการว่า โลกมหัศจรรย์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ และเปิดให้เข้าชมในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 2010 [ 150 ] โดยมีทั้งนักแสดงจากภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ อาทิ แดเนียล แรดคลิฟฟ์ ( แฮร์รี่ พอตเตอร์ ), ไมเคิล แกมบอน ( ศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์ ), รูเพิร์ท กรินท์ ( รอน วีสลีย์ ) แมทธิว ลิวอิส ( เนวิลล์ ลองบัตท่อม ) และ ทอม เฟลตัน ( เดรโก มัลฟอย ) รวมถึง เจ.เค. โรว์ลิ่ง และผู้ประพันธ์เพลงให้กับภาพยนตร์ 3 ภาคแรกอย่าง จอห์น วิลเลียมส์ มาร่วมงานครั้งนี้ด้วย
Read more: Ex on the Beach (British series 6)
และด้วยความสำเร็จของสวนสนุกที่สามารถเพิ่มยอดผู้เข้าชมได้มากกว่าร้อยละ 36 ทางผู้สร้างจึงได้ริเริ่มโครงการที่สอง เป็นการสร้างส่วนขยายของสวนสนุกโดยการได้ทำการสร้างขึ้นในสวนสนุกยูนิเวอร์แซล ฟลอริดา ในส่วนของโครงการที่สองได้มีการสร้างสถานที่ในโลกเวทมนตร์อย่างตรอกไดแอกอน ประกอบด้วยร้านค้าต่างๆ รวมถึงธนาคารกริงก็อตส์ [ 151 ] ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของเครื่องเล่นว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับการหลบหนีจากกริงก็อตส์ และยังรวมไปถึงสถานนีรถไฟของรถด่วนขบวนพิเศษฮอกวอตส์ซึ่งสร้างเชื่อมกับไอส์แลนด์ส ออฟ แอดเวนเจอร์ เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถเดินทางไปได้อย่างสะดวก [ 152 ] [ 153 ] โดยในส่วนของสถานีรถไฟได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 และตามด้วยการเปิดตัวของตรอกไดแอกอนในวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 [ 154 ] สวนสนุกโลกมหัศจรรย์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้มีการขยายสาขาไปเปิดยังต่างประเทศ ที่เมือง โอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 [ 155 ] ก่อนที่จะมีการขยายสาขาเพิ่มเติมในปี 2016 ที่สวนสนุกที่ยูนิเวอร์แซล ฮอลลีวูด ใกล้กับเมือง ลอสแอนเจลิส รัฐ แคลิฟอร์เนีย [ 156 ]