การรับน้องใหม่ถือเป็นประเพณีที่นักศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัยทำการต้อนรับน้องใหม่ที่กำลังเข้ารับการศึกษาในปริญญาตรี โดยให้ความช่วยเหลือและจัดการต้อนรับอย่างอบอุ่น แต่นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งมีการต้อนรับน้องใหม่โดยวิธีการบังคับขู่เข็ญที่ได้รับการปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่นโดยนักศึกษารุ่นพี่ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้เป็นความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากระบบโซตัส ( SOTUS )
ข่าวการรับน้องใหม่มักถูกหยิบยกมาพูดถึงเป็นประจำทุกปีในช่วงเปิดภาคเรียนแรกของปีการศึกษา ล่าสุดที่เป็นที่พูดถึงในสื่อสังคมออนไลนคือ ‘กฎจากรุ่นพี่ถึงน้องปี 1’ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งถูกเผยแพร่โดยเฟซบุ๊กเพจ ‘รับน้องสร้างสรรค์ระดับมหากาฬ’ (โพสต์ต้นทาง: https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=3245828302169155&id=1453177961434207 )
ระบบโซตัส (SOTUS)
“ความจริงระบบ Seniority (อาวุโส) มันก็ดีแต่ความดีมันต้องมีกาลเทศะ หมายความว่าคนที่จะใช้ต้องรู้จักเทคนิคพอสมควร คุณค่าความดีไม่มีสูญ ไม่มีหาย แต่ความดีจะสูญหายไปได้เพราะคนที่เอาความดีมาใช้ไม่รู้จักเลยว่าความดีนั้นคืออะไร” (สุจิตต์ วงษ์เทศ น.41)
จากคำกล่าวข้างต้นสามารถบ่งบอกได้ถึงความเข้าใจเกี่ยวกับระบบโซตัส ( SOTUS ) ของคนส่วนใหญ่ที่เข้าใจอย่างผิด ๆ และนำไปปรับใช้โดยไม่ไม่มีความเข้าใจที่แท้จริง
ระบบโซตัส ( SOTUS ) จริง ๆ คือ “ คำขวัญ ” ไม่ใช่ “ หลักการ ” การที่คนเชื่อเช่นนี้เพราะไม่รู้ประวัติความเป็นมา และจุดประสงค์ที่แท้จริงของระบบโซตัส การว๊ากในต่างประเทศมีจุดประสงค์เพื่อทดสอบกำลังใจของคนที่จะเข้าชมรม แต่ความรุนแรงดังกล่าวติดตัวมากับระบบนี้หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ความจริง คือ “ การว๊าก ” กับ “ ระบบโซตัส ” เป็นคนละเรื่องกัน
ความหมายของ SOTUS ถูกแบ่งออกเป็นตัวอักษรทั้ง 5 ได้แก่
- S ย่อมาจาก คำว่า Seniority คือ ต้องการให้นักศึกษารุ่นน้องเคารพอาจารย์และนักศึกษารุ่นพี่
- O ย่อมาจาก คำว่า Order คือ ต้องการให้นักศึกษารุ่นน้องเชื่อฟังคำสั่ง มีระเบียบวินัย
- T ย่อมาจาก Tradition คือ ต้องการให้มีการรักษาเฉพาะประเพณีที่ดีงานและเหมาะสมไว้
- U ย่อมาจาก คำว่า Unity คือ ต้องการให้นักศึกษารักษาความสามัคคีระหว่างนักศึกษา
- S ย่อมาจาก คำว่า Spirit คือ มีจิตใจที่ดีงาม มีคุณธรรมจริยธรรม มีการเสียสละเพื่อส่วนรวม
ในประเทศไทยพบว่า มีการนำระบบโซตัสเข้ามาในช่วงสงครามเย็นหรือประมาณทศวรรษ 2480 อยู่ในช่วงที่เรามีการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ดังนั้นเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งทางด้านวิชาการทำให้มีการส่งนักเรียนไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาตรีในสหรัฐอเมริกา ( โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยออเรกอนและมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ )
เมื่อกลุ่มนักเรียนที่ส่งไปเรียนจบการศึกษากลับมา ไม่ได้รับเพียงแค่ความรู้ทางวิชาการกลับมา อย่างเดียว แต่มาพร้อมกับความคิดในการรับน้องใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วยระบบการว๊าก ( การกดดันทางจิตวิทยา ) และการลงโทษ ( การทรมานทางร่างกาย ) โดยสถาบันแห่งแรกที่มีการนำโซตัสรูปแบบใหม่มาใช้นั้น คือ “โรงเรียนป่าไม้แพร่” ที่มีการผลิตนักเรียนเพื่อเข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในเวลาต่อมาโรงเรียนป่าไม้แพร่ พัฒนากลายเป็นมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีควาเมป็นไปได้ว่าในช่วงเวลานี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้นำคำว่า “โซตัส” เข้ามา
ว่าด้วยความสำคัญของปัญหาระบบโซตัส (SOTUS)
ถึงแม้ปัญหาของการรับน้องจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเหมือนเป็นเทศกาลประจำในช่วงเปิดปีการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในทุก ๆ ปี แต่มีกลุ่มคนที่มองว่า การรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ภายใต้ระบบโซตัสเป็นกิจกรรมที่มีความสําคัญในการพัฒนานักศึกษา ดังที่วิจิตร ศรีสอาน ( 2529:7 ) และพจน์ สะเพียรชัย ( 2535:15 ) มีความเห็นสอดคล้องกันว่า
“การรับน้องใหม่และประชุมเชียร์เป็นวัฒนธรรมประเพณีของชาวมหาวิทยาลัยที่ถ่ายทอดความสัมพันธ์ของรุ่นพี่ชาวมหาวิทยาลัยไปยังน้องใหม่ เพื่อให้เกิดความรัก ความภาคภูมิใจในสถาบันของตน รวมทั้งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งมีผลทําให้เกิดความสามัคคี การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”
บทความชิ้นนี้สนใจศึกษา การสร้างอัตลักษณ์และการให้ความหมายต่อระบบโซตัสภายใต้สถาบันการศึกษาของสังคมไทย เพื่อทำความเข้าใจความหมายของระบบโซตัสและการนำมาปรับใช้ในสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งศึกษาการตีความหมายและความเข้าใจของนิสิต นักศึกษาและผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อระบบโซตัส
หนุ่มหน่ายคัมภีร์: ภาพสะท้อนอำนาจในสังคมไทย
“ หนุ่มหน่ายคัมภีร์ ” ถูกแต่งขึ้นโดยนายสุจิตต์ วงษ์เทศ เนื้อหาในหนังสือสะท้อนภาพอำนาจในสังคมไทยภายใต้สถาบันอุดมศึกษาที่เสียดสีระบบ Senority ที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมของระบบโซตัสที่รุ่นน้องจะต้องถูกรุ่นพี่ใช้อำนาจในการควบคุมอย่างแท้จริง ทำให้เห็นว่าลึก ๆ แล้วการรับน้องเป็นเรื่องของโครงสร้างทางสังคมที่เน้นเรื่องลำดับขั้นว่า ผู้อาวุโสกว่าย่อมสูงส่งกว่าผู้อื่นโดยไม่ต้องมีคำอธิบายใด ๆ ด้วยเหตุนี้เองในสถาบันอุดมศึกษาที่มีการใช้ระบบโซตัส รุ่นพี่จึงมีความถูกต้องเสมอและรุ่นน้องต้องเชื่อฟังอย่างไร้ข้อกังขา
กล่าวโดยสรุปแล้วเนื้อหาภายในหนังสือถูกดำเนินผ่านตัวละครที่ชื่อว่า “ นายทองปน ” มองภายนอกดูเป็นคนที่สนุกสนานออกไปทางกวนนิด ๆ ภายใต้ท่าทางที่แสนตลกนั้นกลับซ้อนไปด้วยพลังแห่งการต่อต้านที่มีต่อ ระบบผู้อาวุโส(Seniority) ที่เป็นประเพณีสืบทอดภายในมหาวิทยาลัยของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน
กล่าวโดยสรุปแล้วเนื้อหาภายในหนังสือถูกดำเนินผ่านตัวละครที่ชื่อว่า “ นายทองปน ” มองภายนอกดูเป็นคนที่สนุกสนานออกไปทางกวนนิด ๆ ภายใต้ท่าทางที่แสนตลกนั้นกลับซ้อนไปด้วยพลังแห่งการต่อต้านที่มีต่อระบบผู้อาวุโส ( Seniority ) ที่เป็นประเพณีสืบทอดภายในมหาวิทยาลัยของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน
ด้วยความที่ไม่เห็นด้วยกับการมีอยู่ของระบบดังกล่าว ทำให้นายทองปนและนักศึกษาชั้นปีที่ 1 หลายคนแสดงออกถึงการต่อต้านและไม่ยอมรับวัฒนธรรมของผู้อาวุโสที่รุ่นพี่ทั้งหลายศรัทธาจนเกิดเหตุการณ์มากมาย นายทองปนจึงถือเป็น ตัวแทนของภาพสะท้อนอำนาจในสังคมไทยภายใต้สถาบันอุดมศึกษาที่เสียดสีระบบ Seniority อย่างแท้จริง
ความเหมือน – อัตลักษณ์ และความแตกต่างในทางการเมือง
จากเนื้อหาภายในหนังสือ หากนำมาวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับทฤษฏีความเหมือน – อัตลักษณ์ และความแตกต่างในทางการเมืองของธเนศ วงศ์ยานนาวา พบว่า
“ความเป็นพี่น้อง” ในภาษาโซตัส ความหมายแรก ๆ ที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับการมีอยู่ของวัฒนธรรมดังกล่าว คงหนีไม่พ้นคำว่า “ รุ่นพี่ – รุ่นน้อง ” ที่มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ในความหมายที่ผู้เป็นพี่คอยดูแลน้อง ๆ ให้ต่อสู้และเตรียมรับมือก่อนที่จะออกไปสู่สังคมนอกรั้วมหาวิทยาลัย ส่วนน้อง ๆ ที่ได้รับการดูแล ในตอนแรกก็คงไม่เข้าใจว่าเหตุใดทำไมรุ่นพี่จึงทำเช่นนี้ แต่เมื่อถึงเวลาก็จะเข้าใจและดำเนินตามรอยรุ่นพี่
แท้จริงแล้วความเป็นพี่น้องในอุดมคติที่กล่าวไปข้างต้นนั้นไม่มีจริง เพราะ “ความเป็นพี่น้องในระบบโซตัส” วางอยู่บนโครงสร้างเชิงอำนาจของตัวระบบโซตัสเองต่างหาก เพราะความเป็นพี่น้องที่แท้ไม่ได้วางอยู่บนเงื่อนไขที่คนเป็นพี่จะสามารถสั่งให้น้องซ้ายหันขวาหัน หรือด่าท่อน้องเมื่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งต่างจากความสัมพันธ์ของระบบพี่น้องในครอบครัวที่ไม่ได้มีระเบียบปฏิบัติอะไรที่เหมือนกับระบบโซตัส
พี่น้องในความหมายของครอบครัวล้วนมีความเท่าเทียม สนิทสนมกัน เห็นได้จากภาษาที่พูดคุย อาทิ กู-มึง ฯลฯ ในขณะที่พี่น้องในระบบโซตัสมีลักษณะของความเป็นเจ้านายกับลูกน้อง ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นไม่มีสิทธิที่จะทำแบบนี้ได้
“รุ่นพี่ทำทุกสิ่งทุกอย่างลงไปด้วยความรักและความเมตตา ด้วยความปรารถนาที่จะให้น้องใหม่รู้สึกว่านี้เป็นการต้องรับจากรุ่นพี่ รุ่นพี่ต้องการทดสอบสปิริตน้องใหม่ว่ามีความสามัคคี เคารพเชื่อฟังรุ่นพี่ขนาดไหน สังคมใดปราศจากการเคารพเชื่อฟัง สังคมนั้นย่อมมีความวุ่นวาย การที่รุ่นน้องไม่เคารพจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในสังคมไทย” (น.148)
“การเมืองของอัตลักษณ์ (Political of Identity)” หรือที่ในระบบโซตัสจะมีวิธีการเรียกว่า “การละลายพฤติกรรม” ด้วยข้ออ้างที่ว่าคนที่มาเรียนในมหาวิทยาลัยมาจากหลายหลายครอบครัว
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างทำให้ต้องมีการละลายพฤติกรรม ทำให้รวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และเตรียมพร้อมน้อง ๆ ให้สามารถออกไปรับมือกับโลกแห่งความเป็นจริง
Read more: Azerbaijan Premier League
หากมองตามความจริง ในสังคมต่าง ๆ ล้วนมีความแตกต่างที่หลากหลาย แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องมีการละลายพฤติกรรม การเมืองของอัตลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่สร้างความเหมือนขึ้นมา เพราะอัตลักษณ์ก็คือความเหมือนรูปแบบหนึ่งในทางวิธีคิด มุมมองหรืออุดมการณ์บางอย่าง ถ้าในแง่ของระบบโซตัสก็คือ การเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมา
“นายจะมาฝืนเขาได้อย่างไร ประเพณีการรับน้องใหม่เขาทำสืบทอดกันมาเป็นสิบ ๆ ปี นายมาถึงจะมาเขี่ยวัฒนธรรมของเขาให้กระเด็นออกไป มันถูกหรือไม่ ?” (น.199)
อัตลักษณ์ หรือความเหมือนนี้จึงเป็นการสร้างตัวตนของบุคคล หรือกลุ่มคนขึ้นมาไม่ใช่แค่การบ่งบอกถึงพวกพ้อง แต่มันคือการสร้างลักษณะเฉพาะขึ้นมาเพื่อแยกพวกเราออกจากลุ่มต่าง ๆ ทางสังคม หรือเป็นการสร้างตัวตนขึ้นมาในสังคม ซึ่งเป็นการสร้างตัวตนให้กับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ รุ่นพี่ ” เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกลายเป็นคนอื่นในสังคมน้อง ๆ หรือเหล่าน้องปีหนึ่งทั้งหลาย
“พวกผมต่างหากที่เป็นผู้ให้ความอาวุโสของพี่ ถ้าพวกผมไม่ให้พี่ก็จะมีความอาวุโสไม่ได้โดยเลือดเนื้อเชื้อไข” (น.204)
“คนมันจะเคารพกัน ไม่ต้องไปบังคับหรอกมันก็เคารพกันได้ ไม่เคารพกันด้วยอาวุโส ก็เคารพกันด้วยสติปัญญาความคิดความอ่าน” (น.76)
ความสัมพันธ์เบื้องลึกของโซตัสกับการเมืองไทย
จากบทความ “ โซตัส : เมล็ดพันธุ์อุดมการณ์อำนาจนิยมที่ตกค้างในสังคมไทย ” ของอาจารย์วันรัก สุวรรณวัฒนา เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับบริบททางการเมืองของไทยพบว่า ในยุคที่มีระบบโซตัสอย่างจริงจังในมหาวิทยาลัยไทยนั้น เรากำลังอยู่ในยุค “ รัฐนิยม ” ที่มาพร้อมกับการปลูกฝังลัทธิชาตินิยมให้แก่เยาวชนและราษฎรไทย แนวคิดและรูปแบบของการปกครองดังกล่าวที่ถูกหยิบมาใช้ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยมีจุดประสงค์ในการสร้างอุดมการณ์ตามอุดมคติของรัฐเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างชาติ
“การรับน้อง” จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบอบเผด็จการที่แพร่ขยายออกมาข้างนอก เป็นส่วนหนึ่งของความคิดอำนาจนิยมที่อยู่ในสังคมไทยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และมักจะดำเนินควบคู่ไปกับระบบการเมืองในสังคมไทย ช่วงไหนที่มีความเป็นเผด็จการมาก การรับน้องก็จะมีการใช้อำนาจมากตามไปด้วย ช่วงไหนที่ประชาธิปไตยถูกปลุกขึ้นมาเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการทหารโดยเฉพาะในกลุ่มนิสิตนักศึกษา ประเพณีและวิถีปฏิบัติหลาย ๆ อย่างในระบบโซตัสจึงถูกตั้งคำถามอย่างในช่วงปี พ.ศ. 2516 – 2519 หรือในยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน
“การรับน้อง” และ “ห้องประชุมเชียร์” จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถูกตั้งคำถามในฐานะกระบวนการปลูกฝังคนหนุ่มสาวให้อยู่ในสภาพละเลยสิทธิเสรีภาพทางการเมือง จนมีการยกเลิกการรับน้องในมหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่ง
หลังความพ่ายแพ้ของขบวนการนักศึกษาในปี พ.ศ. 2519 ชัยชนะของเผด็จการทหารที่ทำลายขบวนการนักศึกษา หรือที่เรียกว่า “ ประชาธิปไตยครึ่งใบ ” ทำให้เผด็จการทหารออกนโยบายการศึกษา นโยบายทางวัฒนธรรมที่ปลูกฝังค่านิยมชนชั้นในการเชื่อฟังผู้มีอำนาจ รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ผ่านสื่อและสถาบันต่าง ๆ การรับน้องภายใต้ระบบโซตัสจึงถูกกลับมาใช้อีกครั้งในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน พร้อมกับจิตสำนึกทางสังคมต่อการต่อต้านการมีอยู่ของระบบโซตัสของนักศึกษาที่หายไป
‘ว๊าก’ กับ ‘ระบบโซตัส’
“…พอสังคมเปลี่ยนไป อย่างเรื่องห้ามการว๊ากน้อง ก็เลยไม่มีห้องมืด แต่จริง ๆ แล้ว โซตัสก็คือการรักษาระเบียบ ก็เลยจะเน้นไปในทางระเบียบมากกว่า ส่วนห้องมืดที่มีเพื่อให้ความรู้สึกของน้อง ๆ ที่เข้ามาใหม่ดาวน์ลง เพื่อที่จะเข้าสู่ระบบ หรือมีการจัดระเบียบได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งนี่คือประโยชน์ของห้องมืด แต่พอเมื่อไม่มีห้องมืดแล้ว ก็จะเน้นไปในทางรักษาระเบียบมากกว่า เช่น การแต่งกาย…” พี่มหา (สัมภาษณ์, 28 ตุลาคม 2560)
“การว๊าก” คือการสร้างบรรยากาศของความกดดันและความหวาดกลัวทางจิตวิทยา ด้วยกระบวนการทำให้เกิด “ความรู้สึกผิด (emotional guilt)” ผ่านการใช้ชุดคำแบบแผนสำเร็จรูปชุดหนึ่งซ้ำไปมา โดยกลุ่มคนซึ่งสถาปนาตนเองเป็น “ รุ่นพี่ ” บนฐานข้ออ้างเรื่องความอาวุโสเป็นผู้บังคับใช้คำสั่งและการลงโทษ ในฐานะเครื่องมือละลายพฤติกรรม โดยทั้งหมดนี้มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อสร้างกลุ่มรุ่นน้องที่เชื่อฟังอย่างมีระเบียบวินัย มีความเป็นหนึ่งเดียว และมีความรักเทิดทูนและภูมิใจในสถาบันของตน ทั้งหมดนี้ เรียกกันทั่วไปว่า กระบวนการสืบทอดส่งต่อประเพณีรับน้องใหม่ ( พัชณีย์ คำหนัก, 2554 )
บทสรุป
การเดินทางของระบบโซตัสเพื่อฝังรากในวัฒนธรรมไทย จาก “อุดมคติทางจริยธรรม” ในยุคแรกเริ่มพัฒนาสยามประเทศ ระบบโซตัสได้อวตารมาเป็น “อุดมการณ์โซตัส” อันเข้มเข็งและแข็งทื่อในยุครัฐนิยมและยุคเผด็จการทหาร และได้สร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองอีกครั้งหลังความพ่ายแพ้ของขบวนการนักศึกษาหัวก้าวหน้า
ในยุคที่สังคมไทยเรียกร้องความเท่าเทียม ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก อุดมการณ์โซตัสกลับผลิตซ้ำวิธีคิดและวิถีปฏิบัติของยุคเผด็จการ อันมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างความซาบซึ้งกับจารีตนิยมอย่างปราศจากการถกเถียงด้วยเหตุด้วยผล และการผูกขาดการตีความรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับสถาบัน ( ในที่นี้ คือสถาบันการศึกษาและสถาบันอาวุโส ) ให้มีลักษณะแข็งทื่อไร้พลวัต โดยโจมตีกลุ่มคนที่เห็นต่างว่าเป็นพวกบ่อนทำลาย “ เจตนารมณ์ ” และ “ ประเพณีอันเก่าแก่ ” หรือเป็นพวก “ ร้อนวิชาสิทธิมนุษยชน ” หรือ “ ทำลายชื่อเสียงสถาบัน ”
ท้ายที่สุด ประเพณีนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อปรัชญาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่สามารถประนีประนอมได้ เพราะระบบโซตัสเป็นกลไกหลักของการครอบงำเชิงวัฒนธรรมและเป็นเมล็ดพันธุ์ของ “อุดมการณ์อำนาจนิยม” ที่ตกค้างอยู่ในระดับจิตใต้สำนึกและความคิดของผู้คน อันเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาการเมืองที่นำไปสู่การสังหารหมู่เมื่อพฤษภาคม 2553 ( อ.วันรัก สุวรรณวัฒนา, 2554 )
รายการอ้างอิง
เอกสารภาษาไทย ไตรถิกา นุ่นเลี้ยง. 2557. ความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบและผลกระทบของการจัดกิจกรรมการรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ของนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, คณะศิลปศาสตร์, มหาวิทยาลับสงขลานครินทร์.
ทัฬหทัย ศรีดาพันธ์. 2550. การรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ : กรณีศึกษานิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่ง. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2512. หนุ่มหน่ายคัมภีร์. กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาส์น.
เอกสารออนไลน์ กฤดิกร วงศ์สว่างพาณิชย์. 2560. ‘ ความเป็นพี่น้อง ’ ในวัฒนธรรมโซตัส. The count. hypertext transfer protocol : //thematter.co/thinkers/politics-of-identity-in-sotus-culture/29812 ( สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2560 ). ชานันท์ ยอดหงษ์. 2560. ความรักความสามัคคีและรับน้องใหม่ ?. The matter. hypertext transfer protocol : //thematter.co/thinkers/sotus-the-series/35699 ( สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2560 ).
ธเนศ วงศ์ยานนาวา. 2542. “ ท่อง ” ไปในแดนโพสต์โมเดิร์น : ความเหมือน/อัตลักษณ์และความแตกต่างในทางการเมือง. hypertext transfer protocol : //www.academia.edu/26483479/ ( สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2560 ).
พงษ์เมธี ไชยสีหา. 2555. ทฤษฎีความขัดแย้ง ( Conflict hypothesis ). Ipernity. hypertext transfer protocol : //www.ipernity.com/blog/252172/424348 ( สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2560 ).
พัชณีย์ คำหนัก. 2554. การใช้อำนาจข่มเหงเสรีภาพของคนหนุ่มสาว. ประชาไท. hypertext transfer protocol : //prachatai.com/journal/2011/06/35384 ( สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2560 ).
พนัสดา อุทัยพิพัฒนากุล. 2559. รับน้องไงทำไมต้องว้าก # 1 : ฟังเสียงอดีตพี่ว้าก ทำไมเขาถึงเปลี่ยน ?. ประชาไท. hypertext transfer protocol : //prachatai.com/journal/2016/07/67137 ( สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2560 ).
วันรัก สุวรรณวัฒนา. 2554. โซตัส : เมล็ดพันธุ์อุดมการณ์อำนาจนิยมที่ตกค้างในสังคมไทย. ประชาไท. hypertext transfer protocol : //prachatai.com/journal/2011/06/35724 ( สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2560 ). exemplification by Arnon Chundhitisakul
Read more: Willem Dafoe