วันที่ 5 ของ Danube Trip เที่ยวเองยังอยู่ในประเทศเซอร์เบียอีก 1 วัน ครับ


4 วันที่ผ่านมาเราไปเที่ยวไหนกันบ้าง อ่านรีวิวได้เลยครับ
ฮังการี..หนึ่งดินแดนริมฝั่งน้ำดานูบอันน่าค้นหา ตอนที่ 1 “ Székesfehérvár ” เมืองปราสาทแห่งรักชั่วนิรันดร์
ฮังการี..หนึ่งดินแดนริมฝั่งน้ำดานูบอันน่าค้นหา ตอนที่ 2 “ Budapest ” เมืองหลวงอันรุ่มรวยด้วยสถาปัตยกรรมงดงามสองฟากฝั่งแม่น้ำ
ลบภาพจำเก่าๆ ของ “ เซอร์เบีย ” ตอนที่ 1 “ Novi Sad ” ใต้ความแข็งกร้าว..มีความนุ่มนวล
1 Danube Trip map
เท้าความปูพื้นฐานเกี่ยวกับประเทศเซอร์เบียเล็กน้อยนะครับ

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ Yugoslavia หรือ ยูโกสลาเวีย อดีตประเทศอันยิ่งใหญ่ในคาบสมุทรบอลข่านซึ่งล่มสลายลงหลังจากสงครามยูโกสลาเวียเมื่อปีค.ศ. 1990 สงครามนี้เป็นสงครามกลางเมืองที่สู้รบกันในดินแดนอดีตยูโกสลาเวียโดยมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติอย่างขมขื่นระหว่างชาวเซิร์บและมอนเตเนกรินกับชาวโครแอต บอสเนียน และสโลวีน หลังจากนั้นสโลวีเนีย โครเอเชีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา และมาเซโดเนีย จึงได้ประกาศเอกราชแยกตัวเป็นประเทศอิสระจากยูโกสลาเวียตั้งแต่ปีค.ศ. 1991 เป็นต้นมา

ยูโกสลาเวียล่มสลายลงแล้วเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น Serbia and Montenegro จนถึงปีค.ศ. 2006 มอนเตเนโกรก็ได้แยกตัวเป็นประเทศอิสระอีกหนึ่งประเทศ ทำให้เหลือเพียงประเทศเซอร์เบียเหมือนในปัจจุบันเท่านั้น โดยเซอร์เบียยังปกครองดินแดนวอยโวดินาและโคโซโวที่ยังไม่มีความแน่ชัดเรื่องอำนาจอธิปไตยอยู่

เหตุผลที่ผมตัดสินใจมาเที่ยวเซอร์เบียเพิ่มจากตอนแรกที่วางแผนจะเที่ยวแค่ฮังการีกับโรมาเนียก็คือสามารถใช้วีซ่าเชงเก้นแบบ Single Entry เข้าได้และเซอร์เบียไม่อยู่ออกนอกเส้นทางระหว่าง 2 ประเทศนั้น อีกอย่างคือผมไม่เคยเห็นแพ็คเกจทัวร์นำเที่ยวเซอร์เบียเลย แต่อาจจะมีกรุ๊ปทัวร์กลุ่มเล็กที่จัดให้เป็นพิเศษ ถ้าได้มาเที่ยวเซอร์เบียก็คงจะแปลกประหลาดไม่ซ้ำใครดีนะ ฮ่าๆ
ย้อนประวัติศาสตร์และการเมืองมาพอสมควรแล้ว กลับมาเที่ยวกันต่อดีกว่า ลองเปิดใจและเปิดตาชม Belgrade เมืองหลวงของประเทศเซอร์เบียซึ่งน่าจะมีคนไทยไม่กี่คนเขียนรีวิวให้อ่านกันนะครับ

ตื่นตอนเช้าที่เมือง Novi Sad วันนี้เราจะเข้าเมืองหลวงคือ Belgarde กัน ไม่รีบไม่ร้อนก่อน 9 โมงเช็คเอาท์ออกจากโรงแรม ข้ามถนนเดินไปที่ป้ายรถเมล์เดิมที่เมื่อวานมาลงรถ

ยืนรอรถเมล์สาย 3A, 10, 14, 71 ตามข้อมูลที่เช็คมาเพื่อเดินทางไปสถานีรถบัส รถเมล์ผ่านมาหลายสายแต่ไม่เห็นมีเบอร์ดังกล่าว จึงลองถามเจ้าหน้าที่ในป้อมที่ป้ายรถเมล์ว่าจะไปสถานีรถบัสขึ้นเบอร์อะไรได้บ้าง เค้าตอบด้วยภาษาอังกฤษแบบงูๆ ปลาๆ ประมาณว่าได้ทุกเบอร์ยกเว้น 5 พอดีรถเมล์สาย 7б มาจอดที่ป้าย เค้าโบกมือให้เราขึ้นรถเลย
ขึ้นไปจ่ายค่าตั๋ว 55 RSD ( ประมาณ 16 บาท ) แล้วยืนไปไม่กี่ป้ายก็ลงที่หน้าสถานีรถไฟกลาง Železni č ka Stanica Novi Sad ซึ่งอยู่ติดกับสถานีรถบัสกลาง Autobuska stanica Novi Sad “MAS” สถานีนี้เป็นสถานีรถบัสเก่าของเมือง ส่วนสถานีใหม่อยู่นอกเมือง ต้องเช็คให้ดีนะครับว่ารถบัสจะมาถึงหรือออกจากสถานีใดกันแน่ ถ้าระบุว่า “ MAS ” ก็แสดงว่าคือสถานีรถบัสเก่าที่อยู่ในเมืองนี้ชัวร์ครับ

เดินไปที่ด้านหน้าอาคารสถานีรถไฟแล้วเลี้ยวซ้ายเดินไปที่สถานีรถบัส เข้าไปในอาคารซื้อตั๋วรถบัสไป Belgrade แต่ต้องบอกคนขายว่า Beograd ( บีโอกราด ) นะครับ เค้าถึงจะเข้าใจ จ่ายค่าตั๋วไปคนละ 713 RSD ( ประมาณ 210 บาท ) แล้วยืนรอเวลารถบัสของบริษัท Lasta ออกตอน 9 โมงครึ่ง

ไม่นานรถบัสก็เข้ามาจอดที่ชานชลา ยื่นตั๋วให้คนขับรถดูและจ่ายค่าขนกระเป๋าใหญ่อีกใบละ 40 RSD แล้วขึ้นรถไปหาที่นั่งสบายๆ พร้อมออกเดินทางสู่เมืองหลวงของเซอร์เบีย ( รถบัสรอบนี้เป็นรถบัสที่วิ่งในเส้นทาง Subotica ( Суботица ) – Novi Sad ( MAS ) – Beograd )

ผ่านไปประมาณชั่วโมงนึงรถบัสก็แล่นผ่าน Kula Geneks ( Кула Генекс ) หรือ Genex Tower ตึกสูง 35 ชั้นซึ่งเปรียบเสมือนเป็น Zapadna Kapija Beograda ( Западна Капија Београда ) หรือ Belgrade Western City Gate ประตูเมืองทางทิศตะวันตก ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำ Sava ไปก็เข้าสู่เขตตัวเมืองเบลเกรด

พอรถผ่านสถานีรถไฟกลาง Belgrade–Glavna ก่อน 11 โมงรถบัสก็เข้าจอดที่สถานีรถบัสกลางที่เรียกว่า BAS Beogradska autobuska stanica a.d. ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที

รถบัส Novi Sad – Belgrade ของบริษัท Lasta มีหลายรอบต่อวัน
เช็คเวลารถบัสได้ที่ Lasta bus เว็บไซต์มีแต่ภาษาเซอร์เบียนะครับ แต่เข้าใจง่าย ถ้าไม่แน่ใจรายละเอียดบางอย่างก็ลอง copy คำนั้นไป paste ใน google translate เพื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษดูได้เลย

ออกจากสถานีรถบัสเดินย้อนกลับไปที่ด้านหน้าสถานีรถไฟกลางที่ Savski trg ( Sava Square ) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน


ข้ามถนนและทางรถรางไปเช็คอินที่โรงแรม Belgrade City ซึ่งเห็นป้ายเด่นอยู่ข้างหน้า

โรงแรมนี้เป็นโรงแรม 4 ดาว ทำเลดีมากตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟกลางและห่างจากสถานีรถบัสแค่ 500 เมตร เราเลือกพักที่นี่เพราะพรุ่งนี้เช้าตรู่จะได้เดินไปสถานีรถบัสเพื่อขึ้นรถบัสไปเมือง Vršac แล้วต่อรถไฟเข้าประเทศโรมาเนียได้สะดวกครับ
แต่เราได้ห้องพักที่อยู่บนตึกที่สร้างต่อเติมขึ้นมาด้านหลังตึกใหญ่ ไม่มีลิฟท์ ต้องค่อยๆ ยกกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ขึ้นบันไดไปที่ชั้น 2 พอเปิดห้องปุ๊บ ผมนี่เซ็งเลยครัช ! ห้องเล็กมาก แทบไม่มีที่วางกระเป๋าเลย แถมราคาก็ไม่ได้ถูกด้วย ห้องสำหรับ 2 คนนี้ราคาคืนละ 7,312 RSD ( 58.50 ยูโร + city tax คนละ 1.15 ยูโร ) มีอาหารเช้าให้ คืนนี้แชร์กันจ่ายค่าห้องพักคนละประมาณ 1,100 บาทเลย อุตส่าห์จองล่วงหน้าตั้งหลายเดือน ดันจัดห้องแบบนี้มาให้ สงสัยมีทัวร์เกาหลีมาเหมาห้องดีๆ ไปหมด จึงจัดให้เรากระเด็นมาอยู่ตึกเสริม ต้องทำใจครับ แค่คืนเดียวเอง

เที่ยงตรง พร้อมออกไปเที่ยวชมกรุง Belgrade แต่ขอจัดการเรื่องซื้อตั๋วรถบัสไปเมือง Vršac พรุ่งนี้เช้าและตั๋วรถไฟจาก Vršac เข้าประเทศโรมาเนียไปเมือง Timișoara ให้เรียบร้อยเสียก่อน
เดินกลับไปที่สถานีรถไฟกลาง Belgrade–Glavna ( ใน google เขียนว่า Beograd ) เพื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ดูก่อนว่ามีรถไฟไป Vršac มั้ย เผื่อข้อมูลที่หาเจอในเว็บไม่ครบถ้วน

ข้อมูลที่เราหามาจากเว็บไซต์การรถไฟของเซอร์เบียที่ Serbia coach คือมีรถไฟท้องถิ่น ขบวน 2601 ออกจาก Belgrade ตอน 07.19 น. ( ตารางเวลาในขณะนั้น ) แต่จะออกจาก Beograd Dunav Železnička Stanica หรือสถานีรถไฟ Beograd Dunav ( Београд дунав ) ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองใกล้แม่น้ำดานูบห่างจากสถานีรถไฟกลาง Belgrade–Glavna 2.8 กิโลเมตร รถไฟขบวนนี้จะเดินทางถึงสถานีรถไฟ Vršac ในเวลา 09.10 น. ตั๋วรถไฟชั้น 2 ( 2 razred หรือ drugi razred ( Други разред ) ราคา 320 RSD ต้องรอต่อรถไฟท้องถิ่นขบวน 7689 เข้าประเทศโรมาเนียอีก 1 ชั่วโมง 8 นาที และจะเดินทางถึงสถานีรถไฟ Timișoara Nord ในเวลา 12.22 น. แต่ไม่ปรากฏราคาตั๋วรถไฟช่วงหลังนี้

วิธีการเดินทางจากกรุงเบลเกรดเข้าประเทศโรมาเนียโดยรถสาธารณะที่ดีที่สุดคือใช้รถไฟขบวนที่จะออกจากสถานี Beograd Dunav นี้แหละครับ ไปตั้งหลักที่สถานีรถไฟ Vršac อ่านว่า “ เว้อร์ชั่ค ” ต้องขึ้นเสียงสูงและมีควบกล้ำ ร.เรือ ตอนท้ายนิดนึง ไม่งั้นเค้าฟังไม่เข้าใจนะ 555 แต่ผมขอเขียนง่ายๆ ละกันว่า “ เวอร์ชัค
Vršac คือเมืองเล็กๆ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเซอร์เบียอยู่ใกล้ชายแดนประเทศโรมาเนีย

จากนั้นก็ต่อรถไฟผ่านแดนเข้าไปที่เมืองใหญ่ทางตะวันตกของโรมาเนียที่มีชื่อว่า Timi ș oara ออกเสียงว่า “ ติมิโชร่า ” แล้วค่อยหารถไฟหรือรถบัสเดินทางต่อไปยังเมืองอื่นๆ ของโรมาเนียอีกที

แต่รถไฟไปเวอร์ชัคจะออกจากสถานี Beograd Dunav ในเวลา 07.19 น. ซึ่งเช้ามาก ( ขบวนถัดไปจะออกตอน 11.47 น. เลยซึ่งช้าเกินไป ) สถานีรถไฟอยู่ไกลจากโรงแรมด้วย เราต้องออกจากโรงแรมก่อน 7 โมงเช้า อาหารเช้าของโรงแรมก็ไม่ได้กิน ต้องนั่งรถเมล์สาย 37 หรือ 58 จากแถวๆ สถานีรถไฟกลางแต่ไม่รู้ป้ายไหนนะไปอีกสถานีรถไฟหนึ่ง หรือไม่ก็ต้องเรียกแท็กซี่ไปส่งที่สถานีรถไฟเลย ต้องเผื่อเวลาหลงทางและซื้อตั๋วรถไฟอีก ฉุกละหุกตอนเช้าแน่ๆ ครับงานนี้

เราจึงต้องหาแผนสำรองคือนั่งรถบัสไปที่เวอร์ชัคแล้วต่อรถไฟไปติมิโชร่าแทน ลองหารถบัสจากเบลเกรดไปเวอร์ชัครอบเช้าดูและพบว่ามีรถบัสของบริษัท Stup Vršac ออกจากสถานีรถบัสกลาง BAS Beogradska autobuska stanica a.d. ในเวลา 07.45 น. และจะเดินทางถึงสถานีรถบัส Glavna autobuska stanica เมืองเวอร์ชัค ตอน 09.25 น. แต่ไม่ปรากฏราคาตั๋วรถบัส
ค้นหาเวลารถบัสได้ที่ www.stup.rs แล้วเลือก Red vožnje และ Domaći saobraćaj หรือเข้าลิ้งค์นี้ hypertext transfer protocol : //redvoznje.stup.rs/Default.aspx เว็บไซต์ไม่มีภาษาอังกฤษ แต่ใช้ไม่ยากครับ ถ้า search แล้วเห็นคำว่า SVAKODNEVNO ก็แปลว่ารถบัสเวลานั้นมีออกทุกวันครับ

พอถึงสถานีรถบัสเมืองเวอร์ชัคแล้วต้องเดินทางไปสถานีรถไฟอีกเพื่อต่อรถไฟท้องถิ่น ( PT ) ขบวน 7689 ซึ่งจะออกในเวลา 10.18 น. ไปเมืองติมิโชร่า ลองเข้า google map หาดูว่าสถานีรถไฟอยู่ตรงไหนและไกลจากสถานีรถบัสเท่าไหร่ เมื่อดูแผนที่เมืองเวอร์ชัคแล้วเห็นว่ามี 2 สถานีรถไฟ สถานีทางใต้ของเมืองเขียนเป็นภาษาเซอร์เบียนว่า Железничка станица ซึ่งแปลว่าสถานีรถไฟ และสถานีทางเหนือที่เขียนว่า Железничка станица Вашариште ซึ่งแปลว่าสถานีรถไฟ Vašarište มีปัญหาแล้วสิครับว่าตกลงรถไฟเข้าโรมาเนียจะออกจากสถานีรถไฟทางเหนือหรือใต้ของเมืองกันแน่ จึงลองดูแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศดูว่าสถานีไหนน่าจะใกล้เคียงกว่า แล้วก็พบว่าสถานีทางเหนือมีอาคารสถานีดูเป็นสถานีใหญ่กว่าสถานีทางใต้ และสถานีนี้ก็อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถบัสด้วย ห่างไปแค่ 600 เมตรเอง น่าจะใช่สถานีที่รถไฟไปโรมาเนียจะออก แต่ก็ไม่ได้แน่ใจ 100 % ถ้าผิดพลาดดันกลายเป็นสถานีทางใต้ขึ้นมาก็ยังมีเวลาอีกเกือบ 50 นาทีให้แก้ตัวไปให้ถูกสถานีได้ทัน

เมื่อหาเวลาทั้งรถไฟและรถบัสจากเบลเกรดไปเวอร์ชัคแล้ว เราจึงเลือกใช้รถบัสเพราะจะออกจากสถานีที่สามารถเดินจากโรงแรมไปได้ ออกสายกว่ารถไฟเกือบครึ่งชั่วโมงแต่ถึงเวอร์ชัคช้ากว่ารถไฟแค่ 15 นาที ยังไงก็มีเวลาเหลือพอให้เดินไปสถานีรถไฟเพื่อต่อรถไฟเข้าโรมาเนียในเวลา 10.18 น .
อีกทางเลือกหนึ่งที่เราหาเจอนอกเหนือจากรถไฟและรถบัสคือรถมินิบัสของบริษัท Gea Tours ซึ่งสามารถโทรนัดสถานที่และวันเวลาที่ต้องการให้มารับและไปส่งล่วงหน้าได้ ค่าบริการจากเบลเกรดไปติมิโชร่าราคา Jedan pravac ( one way ) 20 ยูโร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง
รายละเอียดเพิ่มเติมที่ Gea Tours
ผมจึงลองส่งอีเมลไปถามข้อมูลแต่ไม่มีคนตอบกลับเลย น้องชายก็ช่วยหาคอมเมนท์ดูว่าคนที่เคยใช้บริการแล้วมีความคิดเห็นยังไงกันบ้าง แล้วก็พบว่าคนขับรถไม่ค่อยมาตรงตามเวลานัดโดยอาจจะแวะไปรับลูกค้ารายอื่นที่อยู่ระหว่างทางก่อนแล้วค่อยมารับเราหรือรับเราก่อนแล้วไปรับลูกค้าคนอื่นต่ออีก กว่าจะออกจากเบลเกรดได้ช้าไปเป็นชั่วโมงก็มี หรือถ้าวันที่เรานัดไม่มีลูกค้าต้องการไปที่เดียวกับเราก็ยกเลิกนัดซะอย่างงั้น ที่ร้ายแรงที่สุดคือมีคอมเมนท์ว่าบริษัทนี้ไม่มีใบอนุญาตให้ขนส่งคนเข้าโรมาเนีย บางทีคนขับรถจะไปส่งที่ชายแดนให้เดินข้ามเข้าเขตโรมาเนีย แล้วโทรเรียกรถของโรมาเนียมารับช่วงต่ออีกที เจอะแบบนี้ก็ตัดสินใจไม่ใช้บริการทันทีเลยครับ
เล่าวิธีการเดินทางจากเซอร์เบียเข้าโรมาเนียซะยาวเลย เพราะเส้นทางระหว่างสองประเทศนี้เป็นช่วงที่ยากที่สุดในทริปนี้แล้วครับ ยิ่งเวลาจำกัดยิ่งทำให้มีทางเลือกน้อยด้วย ผมจึงต้องทำการบ้านเยอะที่สุดอย่างที่เห็น

กลับมาที่สถานีรถไฟกลาง Belgrade–Glavna

เดินไปที่เคาน์เตอร์ขายตั๋วและบอกเจ้าหน้าที่ว่าจะซื้อตั๋วรถไฟไป Vršac ป้าคนขายตั๋วตอบเป็นภาษาอังกฤษแบบพอเดาได้ว่าที่นี่ไม่มีขาย รถไฟไปเวอร์ชัคจะออกจากสถานีรถไฟ Beograd Dunav ต้องไปซื้อตั๋วที่นั่น แสดงว่าข้อมูลที่เช็คมาจากเว็บไซต์การรถไฟเซอร์เบียถูกต้องเป๊ะ จากสถานีรถไฟกลางไม่มีรถไฟไปเวอร์ชัคจริงๆ ด้วย
แบบนี้เราคงต้องเลือกใช้รถบัสตามที่คิดไว้เหมือนเดิม จากโถงขายตั๋วของสถานีรถไฟ เดินเข้าไปที่ชานชาลาลัดไปออกทางประตูด้านข้างของสถานีแล้วเลี้ยวซ้ายเดินไปสถานีรถบัสซึ่งมีป้ายเขียนว่า БАС ( BAS เป็นคำย่อของ Beogradska autobuska stanica a.d. หรือสถานีรถบัสกลางเบลเกรด )

เข้าไปในห้องขายตั๋วแล้วซื้อตั๋วรถบัสไปเวอร์ชัค ผมบอกคนขายว่าจะซื้อตั๋วรถบัสไปเวอร์ชัคพรุ่งนี้เช้า ผมออกเสียงว่า “ เวอร์ชัค ” เธอไม่เข้าใจทำหน้างงใส่ ผมเลยเอาตัวอักษรภาษาเซอร์เบีย “Вршац” ให้ดูเลย เธอตอบผมว่า “ เว้อร์ชั่ค ” ผมเลยรู้เลยว่าเมืองนี้ออกเสียงสูงแบบนี้นี่เอง 555 เธอถามต่อว่าจะไปกี่โมง ผมตอบว่า 7 โมง 45 เธอบอกว่าตั๋วรถบัสใบละ 890 RSD ( ประมาณ 260 บาท ) ผมถามอีกว่ารถบัสจะออกจากชานชาลาอะไร เธอเอาตั๋วให้ดูแล้วชี้เลข 32 ถ้าไม่ถามก็ไม่รู้เลยนะครับว่าช่องนี้แปลว่าชานชาลาเพราะในตั๋วมีแต่ภาษาเซอร์เบียหมดเลย
ลองเดินไปสำรวจดูก่อนว่าชานชาลา 32 อยู่ตรงไหนเพราะสถานีรถบัสที่นี่ใหญ่เหมือนกัน มีชานชาลาหลายสิบเบอร์เลย ถ้าไม่รู้ตำแหน่งชัวร์ๆ อาจจะลนหาตอนเช้าได้ พวกเรารอบคอบตลอดครับ ?
ได้ตั๋วรถบัสไปเวอร์ชัคแล้ว แต่ยังเหลือตั๋วรถไฟจากเวอร์ชัคไปติมิโชราอีก เราจึงเดินกลับไปที่สถานีรถไฟกลางเพื่อซื้อตั๋ว แต่ก็เหมือนเดิม ป้าคนขายตั๋วคนเดิมบอกว่าที่นี่ไม่มีขาย ให้ไปซื้อที่เวอร์ชัคเลย ระบบขายตั๋วของการรถไฟเซอร์เบียนี่ยังไม่ออนไลน์ทั่วถึงเลยครับ

กลับเข้าเรื่องเที่ยว Belgrade โดยเริ่มต้นที่สถานีรถไฟกลาง Belgrade–Glavna

เล่าแบ็คกราวด์ของ Belgrade ให้ฟังเล็กน้อยครับ เบลเกรด หรือ Beograd ( Београд ) ในภาษาเซอร์เบียน คือเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศเซอร์เบียตั้งอยู่ที่จุดบรรจบกันของแม่น้ำดานูบ ( fluviul Dunărea ) และแม่น้ำซาวาหรือ reka Sava ( река Cава )

เบลเกรดมีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของอดีตประเทศยูโกสลาเวียและเซอร์เบียในปัจจุบันมากมาย ผ่านสงครามใหญ่ๆ มามากมาย ผ่านยุคปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์และสังคมนิยม มีผู้นำเผด็จการที่เข้มแข็งและโด่งดัง ( ในทางที่ไม่ดี ) หลายท่าน เช่น นายพล Josip Broz Tito และประธานาธิบดี Slobodan Milošević ผู้ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบอสเนียและคดีอาชญากรรมสงครามอีกหลายคดี
จากสถานีรถไฟกลาง เดินออกประตูด้านหน้าของสถานีไปที่ Savski trg ( Sava Square ) ข้ามถนนและทางรถรางไปแต่ไม่เดินไปทางโรงแรม เดินตรงตามทางรถรางเข้าถนน Nemanjina

ตรงไปประมาณ 400 เมตรก็เห็นซากตึกจะพังมิพังแหล่อยู่ที่มุมสี่แยกทางซ้ายมือ ตึกที่ว่านั้นคือ Savezni Sekretarijat za Narodnu Odbranu ( SSNO) หรือกระทรวงกลาโหมของอดีตยูโกสลาเวียซึ่งถูกบอมบ์เสียหายยับเยินโดยกองทัพ NATO ในสงครามโคโซโวเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 1999 ปัจจุบันตึกนี้เป็นซากปรักหักพังที่มีชื่อเสียงที่สุดของเบลเกรดเลยนะเนี่ย

เดินตรงต่อไปตามถนน Nemanjina ค่อยๆ ขึ้นไปในเขตเนินเขา Vračar อีกราว 500 เมตรก็ถึงวงเวียนของจัตุรัส Trg Slavija ( Slavija Square ) ซึ่งเป็นชุมทางรถรางและรถเมล์หลายสาย เดินอ้อมวงเวียนไปทางขวามือแล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนสายแคบๆ ชื่อ Svetog Save ผ่าน Hotel Slavija ไปไม่ไกลก็เห็นด้านข้างของ Hram svetog Save ( Храм светог Саве ) หรือ Cathedral of Saint Sava ( Saint Sava Temple )

มหาวิหารเซนต์ซาวานี้สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อปีค.ศ. 1989 จากผลงานการออกแบบในสไตล์ Serbo-Byzantine ของ Aleksandar Deroko และ Branko Pešić หรือที่รู้จักทั่วไปว่า Neo-Byzantine เป็นมหาวิหารขนาดใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรบอลข่านและเป็นโบสถ์เซอร์เบียนออร์โธด็อกซ์ที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ภายในวิหารสามารถบรรจุคนได้ถึง 10,800 คน

เดินไปทางขวาไปที่ด้านหน้าของมหาวิหารซึ่งเป็นลานกว้างมีน้ำพุและสวนหย่อมให้ชาวเมืองมาเดินเล่นนั่งเล่นกัน

เดินเข้าไปในมหาวิหารซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเข้าฟรีรึเปล่า แต่ไม่เห็นมีป้ายบอกราคาค่าเข้าและคนเก็บเงินเลย แต่ช่วงนี้ภายในวิหารกำลังบูรณะซ่อมแซมอยู่ เดินดูแป๊บเดียวก็ออกไปที่อื่นต่อแล้วครับ
บ่ายโมงกว่า ท้องร้องดังขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ที่หมายต่อไปของเราคือตลาด Kaleni ć ไปทำไม ? ไปหาของกินสิครัช
จากมหาวิหารเซนต์ซาวา เดินอ้อมไปด้านหลังของวิหาร เดินเข้าถนนแคบๆ ที่ตรงกับตัววิหารเป๊ะที่ชื่อ Mutapova ตรงผ่านสี่แยกไปอีกประมาณ 200 เมตรก็เห็น Kaleni ć eva pijaca ( Каленићева пијаца ) ซึ่งเป็นตลาดสดกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดของเบลเกรดอยู่ที่ถนน Njegoševa เปิดตั้งแต่ 06.00-19.00 น .
ที่นี่มีเนื้อสัตว์ ปลา อาหารทะเลสดๆ ผัก ผลไม้ รวมถึงเสื้อผ้า รองเท้า ของเล่น และสารพัดของกินของใช้ เป็นตลาดแบบ local anesthetic มากๆ ครับ

เดินหาของกินดีกว่า ส่วนใหญ่ร้านที่นี่จะขายอาหารง่ายๆ พวกเคบับ ฟิชแอนด์ชิปส์ พิซซ่า ราคาไม่แพง แต่เราอยากได้ร้านที่มีห้องน้ำด้วยจึงเลือกร้าน Fish & Bar ที่ฝั่งตรงข้ามกับตลาด เข้าร้านไปต่อคิวสั่งอาหาร ดูที่ตู้มีข้าวสวย ข้าวผัด เส้นพาสต้า และกับข้าวพวกของทอด ปลา กุ้ง ปลาหมึก และอีกเพียบ ให้เลือกสั่ง คิดราคาตามน้ำหนักของแต่ละอย่างครับ ด้วยความหิวเราต่างคนต่างสั่งตามใจชอบ ไม่ได้ดูราคาหรอกว่าอะไรแพงบ้าง คนขายยกอาหารมาเสิร์ฟที่โต๊ะและคิดเงิน จ่ายไปคนละเท่าไหร่ยังจำไม่ได้เลยครับ สงสัยตอนนั้นหิวจนตาลายอยู่ จำได้แค่ว่ามื้อนี้แพงกว่างบที่ตั้งไว้เยอะเลย เราตั้งงบค่าอาหารไว้มื้อละไม่เกิน 850 RSD ต่อคน หรือประมาณ 7 ยูโร

Read more: Wikipedia

อิ่มแล้วก็ออกเที่ยวต่อ จากตลาดเราเดินกลับทางเดิมตามถนน Mutapova พอถึงสี่แยกก็เลี้ยวขวาเข้าถนน Makenzijeva เดินตรงไปอีกราว 500 เมตรก็กลับถึง Trg Slavija ( Slavija Square ) ที่เดิม ตรงนี้มีรถรางไปสถานีรถไฟกลางหลายสาย แต่เราหาที่ซื้อตั๋วไม่เจอ เลยเดินอ้อมวงเวียนไปเข้าถนน Nemanjina เหมือนตอนขามาแล้วเดินตรงอีกราว 1 กิโลเมตรกลับทางเดิมไปสถานีรถไฟกลางและโรงแรม Belgrade City

ขอเตือนนะครับ ที่เบลเกรดนี้ห้ามมั่วนิ่มขึ้นรถราง ( трамвајске ) โดยไม่ซื้อตั๋วก่อนขึ้นรถเพราะนายตรวจที่นี่ชุกชุมและชอบจับตาดูคนต่างชาติเป็นพิเศษด้วย ถ้าถูกจับได้ว่าแอบขึ้นรถฟรีจะถูกปรับเป็นเงิน 2,000 RSD หรือ 20 ยูโร ซึ่งถือว่าไม่แพงมากถ้าเทียบกับค่าปรับที่ประเทศยุโรปตะวันตกอื่น ก่อนขึ้นรถรางจะต้องซื้อตั๋วจากซุ้มคีออสค์ขายหนังสือพิมพ์ใกล้ๆ ป้ายรถ ส่วนตั๋วรถเมล์ซื้อจากคนขับรถได้
ระบบขนส่งสาธารณะของเบลเกรดมีตั๋วหลายประเภท ตั๋วที่เหมาะกับนักท่องเที่ยวคือตั๋วเที่ยวเดียว ( Појединачне карте ) ภายในเขต ITS1 ( ИТС1 ) ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องออกไปนอกเขตนี้อยู่แล้ว เช่น

  • ตั๋วกระดาษซื้อบนรถเมล์ (Папирна карта у возилу) ราคาเริ่มต้น 150 RSD และจะเพิ่มขึ้นตามโซนที่เดินทาง
  • ตั๋วอิเล็กทรอนิคปกติ 90 นาที (Основна временска електронска карта 90 мин) ราคา 89 RSD
  • ตั๋วอิเล็กทรอนิค 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมง (Временска електронска карта 1 дан) ราคา 280 RSD
  • ตั๋วอิเล็กทรอนิค 3 วัน (Временска електронска карта 3 дана) ราคา 720 RSD

และ บัตร “ BusPlus ” ( „БусПлус “ картица ) แบบส่วนตัวและแบบไม่ส่วนตัวเป็นบัตรเติมเงินซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองที่โดยสารรถสาธารณะเป็นประจำ
ข้อมูลขนส่งสาธารณะของเบลเกรดมีรายละเอียดเยอะมากและค่อนข้างเข้าใจยาก สามารถเช็คข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของ GSP ( ГСП ) ที่ www.gsp.rs เลือกช่องที่ 3 информације ( information ) และคลิ๊กที่ Карте ที่แปลว่าตั๋ว แล้วกด Translate แปลเป็นภาษาอังกฤษ หรือเข้าลิ้งค์นี้ www.busplus.rs/page-karte-cenovnik-pojedinacne.php เพื่ออ่านข้อมูลอย่างละเอียดครับ

กลับไปตั้งหลักที่ Savski trg ( Sava Square ) ด้านหน้าสถานีรถไฟกลางและโรงแรม Belgrade City ก่อนครับ จากตรงนี้เราจะเดินเที่ยวในบริเวณศูนย์กลางกรุงเบลเกรดแล้ว

เดินเลยโรงแรมไปที่สามแยกแล้วเลี้ยวขวาไปก็เห็นป้ายบอกทางไป Трг Теразије หรือ Terazije Square เดินตามถนน Milovana Milovanovica ( Милована Миловановића ) ขึ้นทางชันไปเจอสี่แยก โค้งซ้ายเดินตามทางชันของถนน Balkanska ( Балканска ) ตรงขึ้นเนินไปเรื่อยๆ ประมาณ 500 เมตรก็เห็นตึกสูงของ Hotel Balkan อยู่ข้างหน้า และ Hotel Moskva ( Хотел Москва ) ซึ่งเป็นวังรัสเซียเดิมอยู่ทางขวา เลี้ยวขวาไปก็ถึงถนน Terazije ( Теразије ) ตามที่ป้ายบอกทางชี้บอก


จากสามแยกใหญ่ที่ถนน Terazije นี้สามารถเลือกเลี้ยวซ้ายเดินไปทางทิศเหนือของเมืองหรือเลี้ยวขวาไปทางทิศใต้ของเมืองก่อนก็ได้เพราะมีสถานที่สำคัญอยู่ทั้งสองทาง
เราเลือกเลี้ยวซ้ายไปก่อน มองตรงไปก็เห็น Palace Albanija หรือ Palata Albanija ( Палата Албанија ) Albanian building นี้เป็นอดีตตึกที่สูงที่สุดของกรุงเบลเกรดตั้งอยู่ที่ต้นถนน Knez Mihailova สร้างเสร็จเมื่อปีค.ศ. 1939 ปัจจุบันเป็นศูนย์การค้าครับ

ที่ถนน Terazije นี้เป็นย่านธุรกิจการค้าใจกลางเมือง ตลอดทางมีห้างสรรพสินค้าและร้านค้ามากมาย ทั้งร้านเสื้อผ้า ร้านขายยา ร้านอาหาร ร้านแลกเงินที่เขียนป้ายว่า Menjačnica เรทแลกเงินที่นี่ดีกว่าที่ Novi Sad อีกคือ 1 ยูโร = 119.85 RSD
เท่าที่เดินเที่ยวในเบลเกรดมาประมาณครึ่งทางแล้ว ผมว่าที่นี่คล้ายๆ กรุงมอสโกของรัสเซียนะ แต่เป็นมินิมอสโก ทั้งบรรยากาศโดยรวมของเมืองที่เป็นเมืองใหญ่ สภาพวิถีชีวิตของชาวเมืองแต่คนเบลเกรดไม่เร่งรีบเหมือนคนมอสโก บุคลิกของคนที่นี่ดูแข็งทื่อไม่ค่อยสนใจเรา
จากตึกอัลบาเนีย ถ้าเดินเข้าถนนทางซ้ายมือคือ Knez Mihailova ซึ่งเป็นถนนคนเดินสายหลักของเมือง แต่เราขอแยกไปทางขวาเข้าถนน Kolarčeva ก่อน

เดินไปอีกนิดก็ถึง Trg Republike ( Трг Републике ) หรือ Republic Square จัตุรัสหลักใจกลางบริเวณเมืองเก่าหรือ Stari Grad ( Стари Град ) ที่นี่เป็นจุดนัดหมายของชาวเมืองหรือที่เรียกว่า kod konja ( by the sawhorse ) ก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่าทำไมเค้าถึงเรียกกันแบบนี้ สงสัยที่ตรงกลางจัตุรัสมีรูปปั้นของ Mihailo Obrenović III ( Михаило Обреновић ) หรือ Prince Michael เจ้าชายแห่งเซอร์เบียทรงม้าอยู่นี่แหละมั้ง

ด้านหลังของหางม้าคืออาคาร Narodni Muzej ( Народни музеј ) หรือ National Museum พิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของเซอร์เบียและยูโกสลาเวียเก่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ. 1844 แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการซ่อมแซมมีผ้าขาวคลุมทั้งหลังเหลือโผล่มาแค่ยอดหลังคาเท่านั้น
อาคารด้านข้างของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอีกฝั่งถนนคือ Narodno Pozorište ( Народно позориште у Београду ) หรือ National Theatre โดยทั้งอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและโรงละครแห่งชาติได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็น Nepokretna kulturna dobra ( Непокретна културна добра ) หรือ cultural Heritage of Serbia

จาก Trg Republike ( Republic Square ) ถ้าเดินตามถนน Makedonska ( คนละด้านกับโรงละครแห่งชาติ ) ไปไม่ไกลแล้วเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกเข้าถนน Braće Jugovića พอถึงสามแยกก็เลี้ยวขวาเข้าสู่ต้นถนน Skadarska ( Скадарска ) หรือ Skadarlija ระยะทางรวมประมาณ 200 เมตร
เดินลงทางลาดข้ามถนนตรงเข้าสู่ทางเดินหินขรุขระลาดชันของ Skadarlija ถนนคนเดินแนววินเทจซึ่งเต็มไปด้วยร้านอาหาร คาเฟ่ และร้านเหล้าชื่อดัง เช่น Dva jelena ( The Two Deers ), Tri šešira ( The Three Hats ), Dva bela goluba ( The Two White Pigeons ), Zlatni bokal ( The Golden Jug ), Ima danu ( There ’ second Time ), Šešir moj ( This Hat of Mine ) รวมถึงแกลเลอรี่ ร้านขายของแอนทิคและของที่ระลึกมากมาย
แต่เราเสียเวลาเรื่องซื้อตั๋วรถบัสและรถไฟสำหรับใช้เดินทางวันพรุ่งนี้ไปเยอะแล้ว เที่ยวช้ากว่าแผนไปเป็นชั่วโมงแล้วด้วย และร้านอาหารส่วนใหญ่จะคึกคักได้บรรยากาศไนท์ไลฟ์ตอนค่ำๆ หน่อยครับ จึงไม่ได้เดินไปที่ถนนสายฮิปสเตอร์ของเบลเกรดนี้ครับ แต่แนะนำไว้เผื่อใครสนใจก็ลองไปเดินชมหรือดื่มกินยามค่ำคืนดูได้ครับ ถ้าอยากจะดริ๊งค์จริงจัง ขอแนะนำให้เลือกที่พักใกล้ๆ ถนนนี้จะได้เมาปลิ้นได้เต็มที่โดยไม่ต้องเดินทางกลับที่พักไกล 555 อาจจะเลือกที่พักที่อยู่ช่วงต้นถนน Knez Mihailova หรือแถวใกล้ๆ ป้ายรถราง Skadarlija pijaca ที่ถนน Džordža Vašingtona ซึ่งเป็นตอนปลายถนน Skadarska ออกนอกเขตใจกลางเมืองไปแล้วก็โอเคครับ
ยืมภาพบรรยากาศของถนนสายฮิปมาให้ชมแทนละกันครับ

ออกจาก Trg Republike ( Republic Square ) เดินกลับไปที่ตึกอัลบาเนียตรงต่อเข้าถนนใหญ่ Terazije ผ่าน Hotel Moskva อีกครั้ง

ตรงต่อเข้าถนน Srpskih vladara ( Kralja Milana ) อีกไม่ถึง 5 นาทีก็เห็นอาคาร Novi Dvor ( Нови Двор ) หรือ New Palace อดีตที่ประทับของพระเจ้า Petar I Karađorđević ปัจจุบันเป็น Predsedništvo Republike Srbije ( Председник Републике Србије ) หรืออาคารที่ทำงานของประธานาธิบดีสาธารณรัฐเซอร์เบีย ด้านหน้าอาคารมีสวนดอกไม้ขนาดย่อมชื่อว่า Andrićev venac และน้ำพุเป็นโฟร์กราวด์ให้ถ่ายรูปครับ

อีกด้านหนึ่งของสวน Andrićev venac ตรงกันข้ามกับทำเนียบประธานาธิบดีคือ Stari Dvor ( Стари Двор ) หรือ Old Palace พระราชวังหลังเก่าแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของกษัตริย์แห่งเซอร์เบียมาก่อน แต่ปัจจุบันเป็นที่ว่าการกรุงเบลเกรด

เดินลัดสวน Andrićev venac และ Pionirski ไปที่ Trg Nikole Paši ć a ( Трг Николе Пашића ) หรือ Nikola Pašić Square อาคารมหึมาที่ฝั่งตรงข้ามถนนคือ Dom Narodne Skupštine ( Дом Народне Скупштине ) หรือ House of the National Assembly อาคารสมัชชาแห่งชาติเซอร์เบีย ในอดีตอาคารแห่งนี้เคยใช้เป็นรัฐสภาของยูโกสลาเวียรวมถึงเซอร์เบียและมอนเตเนโกรในเวลาต่อมา

เดินไปทางขวาตามถนน Trg Nikole Pašića ผ่านอาคารสมัชชาแห่งชาติข้ามสี่แยกใหญ่ไปไม่ไกล มองไปทางซ้ายมือก็เห็น Crkva Svetog Marka ( Црква Светог Марка ) หรือ St. Mark ’ s Church โบสถ์เซอร์เบียนออร์โธด็อกซ์สำคัญอีกแห่งของเบลเกรดตั้งอยู่ใน Tašmajdanski park ( Ташмајдански парк ) หรือสวน Tašmajdan

จากสี่แยกนี้ เราเลี้ยวขวาเข้าถนน Resavska เดินตามทางรถรางผ่านสี่แยกเล็กไปแล้วเลี้ยวขวาที่สี่แยกใหญ่เข้าสู่ถนน Srpskih vladara ( Kralja Milana ) อีกครั้ง

เดินตามถนนใหญ่นี้ไปอีกประมาณ 400 เมตรก็กลับไปที่ด้านข้างของทำเนียบประธานาธิบดี

เย็นมากแล้วแต่ท้องฟ้ายังไม่มีทีท่าว่าจะมืดเลย เราวางแผนจะเดินตามถนน Knez Mihailova โดยเริ่มต้นที่ตึกอัลบาเนียตรงไปสุดทางและเข้าไปยัง Kalemegdan Park หาจุดชมวิวแม่น้ำซาวาบรรจบกับแม่น้ำดานูบที่สวนสาธารณะที่มีชื่อเสียงที่สุดของเบลเกรดนี้ จึงไม่รีบร้อนอะไรมาก เดินเพลินๆ ตามถนน Srpskih vladara ( Kralja Milana ) ต่อเข้าถนน Terazije กลับไปที่ตึกอัลบาเนีย

คราวนี้เราเดินแยกเข้าถนนทางซ้ายมือที่มีชื่อว่า Ulica Knez Mihailova ( Улица Кнез Михаилова ) หรือ Ulica Kneza Mihaila ( Улица Кнеза Михаила ) หรือ Prince Michael Street


ถนนคนเดินและถนนช้อปปิ้งสายสำคัญของกรุงเบลเกรดที่มีความยาวเกือบ 1 กิโลเมตรนี้ถูกตั้งชื่อตามชื่อของ Mihailo Obrenović III เจ้าชายแห่งเซอร์เบีย ถนนสายนี้คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่มาเดินเล่นเลือกซื้อของและรับประทานอาหารทั้งกลางวันและกลางคืน ถือเป็นหนึ่งแลนด์มาร์คที่นักท่องเที่ยวจะต้องมาเลยครับ

เดินเล่นที่ถนนคนเดินนี้ไปเรื่อยๆ ตรงไปจนสุดทางก็เห็นทางเข้าสวน Kalemegdan ข้ามถนนตรงเข้าไปในสวนเลยครับ จุดนี้คือบริเวณ Veliki Kalemegdanski park ( Велики Калемегдански парк ) หรือ large Kalemegdan Park เดินไปสักพักก็เจอ Monument of Gratitude to France ( Споменик захвалности Француској ) อนุสาวรีย์รูปผู้หญิงฝรั่งเศสถือดาบกำลังรีบไปช่วยยูโกสลาเวียเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพอันแน่นแฟ้นและความร่วมมืออันดีระหว่างยูโกสลาเวียและฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

มองเลยไปก็เห็น Beogradska tvr đ ava ( Београдска тврђава ) หรือ Belgrade Fortress ป้อมปราการโบราณของเบลเกรด ที่นี่เป็นจุดศูนย์กลางและจุดสำคัญที่สุดของเมือง ในอดีตป้อมนี้สร้างขึ้นเพื่อป้องกันการโจมตีของอาณาจักรโรมันและใช้เป็นที่ประทับของผู้ปกครองเมืองเพราะตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสม ปัจจุบันกลายเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ มีร้านค้าและร้านอาหารมากมาย

จากอนุสาวรีย์เดินผ่าน Karađorđe kapija ( Karađorđe Gate ) ไปถึง Prirodnjački muzej ( Природњачки музеј ) หรือ Museum of Natural History ก็ถึงทางเข้าไปในอาณาบริเวณของป้อมปราการ

เดินเข้าไปยังเขต Gornji Grad ( Горњи Град ) หรือ Upper Town

ในอาณาบริเวณ Upper Town ของสวน Kalemegdan เป็นที่ตั้งของแลนด์มาร์คสำคัญที่สุดของกรุงเบลเกรด นั่นคือ อนุสาวรีย์ Pobednik ( The Victor ) แต่เรายังไม่เดินไปเพราะตรงนั้นต้องไปถ่ายรูปตอนพระอาทิตย์ใกล้ตกครับ

บริเวณนี้เป็นจุดชมวิวแม่น้ำซาวาที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำดานูบซึ่งได้ชื่อว่าโรแมนติกที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ( ไม่รู้โม้รึเปล่า 555 ) ตอนเย็นๆ ในช่วงพระอาทิตย์กำลังจะตกดินคนจะมาที่จุดนี้มากเป็นพิเศษเลยครับ


เดินถ่ายรูปแถวป้อมกำแพงเมืองโบราณ พอลอดประตูป้อมไปก็เห็นยอดแหลมของ Ru ž ica ( Црква Ружица ) หรือ Little Rose Church คือโบสถ์เก่าแก่ที่สุดของเมืองตั้งอยู่ในเขต Donji Grad ( Доњи Град ) หรือ Lower Town ( ทางทิศเหนือของสวน ) แต่เราไม่ได้เดินลงไปชมด้านหน้าโบสถ์ครับ

ใกล้จะมืดแล้ว เดินกลับทางเดิม

เดินเลยต่อไปที่อนุสาวรีย์ Pobednik ( The Victor ) หรือ Rimski bunar ( Roman Well ) ฮีโร่ตลอดกาลของชาวเมืองเบลเกรด อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะของชาวเซิร์บที่มีต่อพวกออตโตมันในช่วงสงครามบอลข่านและอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปีค.ศ. 1928

ในอาณาเขตของสวน Kalemegdan ยังมี Beogradski vrt dobre nade ( Београдски врт добре наде ) หรือ Belgrade Zoo แต่เราไม่ได้เดินไป
ก่อนท้องฟ้าจะมืดสนิท ได้เวลากลับไปหาอะไรกินมื้อเย็นในเมืองแล้ว
สวนคาเลเมกดานอยู่นอกเมืองออกมานิดหน่อย เส้นทางขากลับเข้าเมืองอีกทางหนึ่งที่ไม่ใช่ทางถนนช้อปปิ้ง Knez Mihailova ดูไม่ค่อยปลอดภัย ( ไม่รู้คิดไปเองรึเปล่า ) ผมลอง dismiss ลงไปดูใน google map แล้วค่อนข้างน่ากลัวในเวลากลางคืนเพราะเป็นเส้นทางเลียบแม่น้ำซาวา บ้านริมถนนดูเก่าโทรม มีช่วงที่ต้องลอดใต้สะพานข้ามแม่น้ำด้วย นึกถึงแหล่งเสื่อมโทรมใต้สะพานของบ้านเราเลย
จากอนุสาวรีย์ Pobednik เดินกลับทางเดิมไปออกประตูสวนที่เดิม ไม่ต้องข้ามถนน เลี้ยวซ้ายเดินไปที่ป้ายรถราง Kalemegdan ( Калемегдан ) รถรางสาย 2 ( линија 2 ) มาพอดีเลย

เราขึ้นรถรางโดยที่ยังไม่ได้ซื้อตั๋วเพราะแถวนั้นไม่มีคีออสค์ขายตั๋วเลย ไม่รู้จะซื้อตรงไหนจริงๆ ในใจแล้วก็ไม่อยากทำนะครับ ไปทำผิดกฎหมายบ้านเมืองเค้ามันไม่ดี แต่จุดนี้จำเป็นจริงๆ ถ้าเดินกลับจะต้องเดินประมาณ 1.7 กิโลเมตร
นั่งลุ้นไม่ให้เจอนายตรวจไป 3 ป้ายก็ลงที่ป้าย Ekonomski fakultet ( Економски факултет ) ที่สวนด้านหน้า
สถานีรถบัสกลาง
ดูเส้นทางรถรางสีชมพูนะครับ

เดินตามถนน Karađorđeva ไปก่อนถึงสถานีรถไฟกลางแวะซื้อ Pica Parče พิซซ่าชิ้นใหญ่ชิ้นละ 100 RSD ( ประมาณ 30 บาท ) และ Kroasan sa Džemom เป็นขนมปังไส้แยมส้มชิ้นนึง 70 RSD กลับไปกินที่โรงแรมเพราะเท่าที่เห็นแถวนี้ไม่มีร้านอาหารดีๆ เลย เดินต่อไปผ่านสถานีรถไฟกลางก็เห็นโรงแรมอยู่ข้างหน้า ทุ่มนึงก็
กลับขึ้นห้องไปนั่งกินพิซซ่าแล้ว

คืนนี้ต้องรีบนอนเร็วหน่อยเพราะพรุ่งนี้เช้าตรู่ต้องออกเดินทางข้ามประเทศสู่ Romania ซึ่งเป็นประเทศที่ 3 ใน Danube Trip แล้วครับ

*ห้ามคัดลอกหรือดัดแปลงข้อมูลและรูปภาพเพื่อนำไปเผยแพร่ก่อนได้รับอนุญาต